วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลักของวิทยากร

หลักของวิทยากร

       มีคำถามว่า “คนพูดไม่เก่งเป็นวิทยากรได้หรือไม่” คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” สิ่งที่วิทยากรจำเป็นต้องมีคือ ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่จะทำการสอน (ได้แก่ รู้รายละเอียด รู้สาเหตุ รู้สมมติฐานและประยุกต์ความรู้นั้นได้) มีความสามารถในการถ่ายทอด และมีความรู้เรื่องจิตวิทยาการสอน การถ่ายของวิทยากรส่วนใหญ่นั้นอาศัย “การพูด” เป็นหลัก คนซึ่งพูดเก่งแต่ไม่มีความรู้ ประสบการณ์ ก็ไม่อาจเรียกความศรัทธาจากผู้ฟังได้ การพูดเก่งก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าผู้เป็นวิทยากรมีความรู้ว่าควรพูดอย่างไร ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีค่ามากกว่าการพูดเก่ง

ขั้นตอนการพูดสำหรับวิทยากร

ขั้นตอนที่ ๑ การเตรียมตัว

ข้อมูลซึ่งวิทยากรควรนำมาพูด

       ๑. เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ คือต้องเป็นข้อมูลที่วิทยากรเคยใช้ เคยทดลองมาก่อนหรือเคยมีประสบการณ์มาสนับสนุน จะทำให้น่าเชื่อยิ่งขึ้น

       ๒. เป็นเรื่องใหม่ ทันสมัย

       ๓. เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ฟัง และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง



คำพูดที่วิทยากรควรหลีกเลี่ยง

      ๑. คำพูดที่ไม่สุภาพ มีความหมาย ๒ แง่ ๒ ง่าม

      ๒. คำพูดซึ่งมีความหมายคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้หลายอย่าง

      ๓. เป็นคำพูดที่ยากต่อการเข้าใจ เช่น การใช้คำศัพท์ต่างประเทศ

      ๔. คำซึ่งสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น

            - คำตำหนิติเตียน

            - การพูดออกคำสั่ง บังคับ

            - คำด่า

            - คำพูดยกตนข่มท่าน

            - คำพูดส่อเสียดประชดประชัน

           - คำพูดดูหมิ่น

          - คำพุดคุยโม้โอ้อวด

          - คำพูดกระทบ

         - คำพูดแดกดัน

         - คำพูดสบถ

        - คำพูดเยาะเย้ย ถางถาก

        - คำพูดไม่ให้เกียรติ

        - คำพูดดูถูกเหยียดหยาม  ฯลฯ

จุดมุ่งหมายของการพูด

     จุดมุ่งหมายของการพูดแต่ละครั้งมีหลายประการ ลักษณะของการพูดแต่ละแบบมีวิธีการที่ต่างกัน วิทยากรจำเป็นต้องรู้ว่าขณะพูด ตนเองมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
๑. พูดเพื่อถ่ายทอด
๒. พูดเพื่อจูงใจ
๓. พูดเพื่อให้บันเทิง
๔. พูดเพื่อจรรโลงใจ


ขั้นตอนที่ ๒ ขั้นพูด

วิธีการพูดแล้วมีคนฟัง

ผู้ฟังแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และลักษณะของความแตกต่างมีผลต่อการพูด

ของวิทยากร หากวิทยากรไม่รู้ถึงธรรมชาติและลักษณะของผู้ฟัง การเตรียมเนื้อหาสาระ และวิธีการพูดก็ไม่อาจผูกใจคนฟังได้ ผู้ฟังแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

       ๑. วัย วัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ (วัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยกลางคน และวัยสูงอายุ)

       ๒. เพศ (หญิงหรือชาย)

       ๓. ระดับการศึกษา

      ๔. อาชีพ เช่น

               - ข้าราชการ

               - พนักงานของภาคเอกชน

               - พนักงานของรัฐวิสาหกิจ

              - พ่อค้า

              - นักธุรกิจ

              - แม่บ้าน

             - เกษตรกร (ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่)

             - กรรมกร ฯลฯ

      ๕. ภูมิลำเนา

      ๖. การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว

      ๗. ตำแหน่ง

     ๘. ประสบการณ์ในชีวิต

     ๙. ความรู้ในเรื่องที่ควรพูด

     ๑๐.ทัศนคติต่อเรื่องที่พูด

ความแตกต่างในประเด็นดังกล่าวข้างตน จะมีผลต่อการรับรู้และความสามารถในการ

      สื่อสารของผู้ฟัง ความรู้เกี่ยวกับผู้ฟังข้างต้น จะช่วยให้ผู้พูดรู้ว่าควรยกตัวอย่างหรืออธิบายอย่างไร จึงจะตรงกับประสบการณ์ของผู้ฟัง ผู้ฟังนึกภาพได้ เชื่อมโยงกับความรู้เดิมได้

ความต้องการของคนฟัง

คนเราจะฟังก็ต่อเมื่อเรื่องที่ฟังเป็นประโยชน์ และตรงกับความต้องการของบุคคลนั้น เช่น เรื่องซึ่งเป็นปัญหาซึ่งอยากรู้คำตอบ หรือเป็นเรื่องที่บุคคลสามารถเอาไปใช้ได้ ทั้งหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว

ธรรมชาติของคนฟัง

คนฟังจะมีธรรมชาติ ดังนี้ คือ

      ๑. ชอบฟังเกี่ยวกับเรื่องตนเอง และเป็นเรื่องที่ตนสนใจ

      ๒. ไม่ชอบให้ใครโต้เถียง

      ๓. ไม่ชอบให้ใครตำหนิ

      ๔. ชอบการให้เกียรติ ยกย่องและยอมรับ

      ๕. ช่างสงสัย

      ๖. ชอบจับผิด (คอยฟังว่าเชื่อได้หรือไม่ เอามาจากไหน)

      ๗. จะฟังเรื่องที่ตนเองได้ประโยชน์

      ๘. ชอบฟังเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ

ผู้เป็นวิทยากรต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวทุกครั้งเมื่อทำการพูด

หลักการพูดของวิทยากร

เพชรบูรณ์ โรจนธรรมกุล กล่าวถึงหลักการพูดของวิทยากรไว้ดังนี้

    ๑. มีความชัดเจน กล่าวคือ

          - ชัดเจนในการออกเสียง

          - ชัดเจนตามอักขระภาษา

          - ชัดเจนในความหมาย

   ๒. เข้าใจง่าย

         - ด้วยการใช้ภาษาซึ่งผู้ฟังเข้าใจ

        - ใช้ตัวอย่างที่มีความสอดคล้องและเป็นรูปธรรม

   ๓. ยกย่องและให้เกียรติผู้ฟัง เป็นการแสดงออกทางการกระทำและคำพูด โดยมีการยกย่องผู้ฟัง มีความเกรงใจ ไม่พูดลดความรู้สึกลดศักดิ์ศรีของผู้ฟัง

   ๔. รักษาน้ำใจด้วยการไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง กระทบกระเทือนใจผู้ฟัง ควรใช้คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจ เห็นใจ และแสดงความเป็นพวกเดียวกัน

   ๕. ใช้คำพูดที่เพิ่มพลังด้วยการไม่ใช้คำพูดที่ซ้ำซาก จำเจ เลี่ยงคำพูดเดิมๆ มีการใช้คำพูดใหม่ๆ ที่พูดแล้วผู้ฟังมีความสนใจ และทำให้ผู้ฟังมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่พูด


การใช้สายตาในระหว่างการพูด

       ๑. กวาดสายตามองผู้ฟังอย่างทั่วถึง

       ๒. ไม่มองผู้ฟังอย่างจ้องไม่วางตา

       ๓. ไม่มองผู้ฟังด้วยหางตา

       ๔. ไม่หลบตาผู้ฟัง

      ๕. ไม่ทำตาหวาน กรุ้มกริ่ม

สิ่งที่วิทยากรควรคำนึงถึงเมื่อพูด

เมื่อพูดวิทยากรควรคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้

       ๑. เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ฟัง

       ๒. อย่าพูดเพื่อสร้างปัญหา ทุกครั้งที่พูดต้องระวังว่า พูดแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่

       ๓.ต้องคำนึงถึงศีลธรรม การพูด ๒ แง่ ๒ ง่ามเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะเป็นการลดคุณค่าของวิทยากร

       ๔. ต้องทำให้ได้อย่างที่พูด

       ๕. พูดแล้วต้องสร้างสรรค์ มิใช่พูดแล้วทำลาย

       ๖. พูดแล้วต้องเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

       ๗. ต้องนึกเสมอว่าเมื่อเราพูดแล้ว คนจะเข้าใจหรือไม่ คนฟังจะได้อะไรจากการพูดของเรา ทำไมคนฟังจึงไม่ฟัง

      ๘. น้ำเสียงที่พูด

             - นุ่มแต่ดัง ชัดเจน มีจังหวะที่เหมาะสม

             - ช้า ชัดเจน ฉาดฉาน

             - เป็นธรรมชาติ

             - มีการใช้เสียงสูง – ต่ำ ไม่ใช้เสียงเดียวตลอด

       การพูดเป็นสิ่งจำเป็นที่วิทยากรต้องรู้ เพื่อเสริมให้การถ่ายทอดและการดำเนินการสอนให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ผู้เป็นวิทยากรจำเป็นต้องเตรียมตัว เมื่อพูดก็รู้ว่าผู้ฟังคือใคร ความต้องการของคนฟัง ธรรมชาติของคนฟัง หลักการพูด พฤติกรรมขณะพูดและสิ่งที่วิทยากรควรคำนึง


ทักษะเสริมสร้างประสิทธิภาพการเป็นวิทยากร

ทักษะที่วิทยากรจำเป็นต้องรู้ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพได้แก่ ทักษะต่างๆ ดังต่อไปนี้

          ๑. การใช้วาจา กิริยาท่าทาง เพื่อเสริมบุคลิกภาพในการสอน

          ๒. การนำเข้าสู่บทเรียน

          ๓. การสรุปบทเรียน

         ๔. การแปรเปลี่ยนความสนใจ

         ๕. การอธิบายและยกตัวอย่าง

         ๖. การเสริมกำลังใจ

        ๗. การบรรยาย

       ๘. การสาธิต

       ๙. การตั้งคำถาม

       ๑๐. การใช้สื่อโสตทัศนศึกษา

ทักษะทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นสิ่งที่วิทยากรทุกคนต้องใช้ตลอดเวลา หากวิทยากรมีความรู้เรื่องดังกล่าวข้างต้น ก็จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการเป็นวิทยากรให้ดียิ่งขึ้น



๑. การใช้วาจา กิริยาท่าทาง เพื่อเสริมบุคลิกภาพในการสอน

จากงานวิจัยของชาเดอร์และอาฟพบว่า วิทยากรจะต้องมีลักษณะส่วนหนึ่งดังนี้คือ “ท่าทางดึงดูดความสนใจ อารมณ์ดี เสียงดี มีความสะอาดและเป็นระเบียบ”

วิทที (Witty) ได้ทำการวิจัยลักษณะครูที่ดีพบว่า ครูที่ดีนั้นจะต้องมีลักษณะและท่าทางดี ส่วนลักษณะของวิทยากรซึ่งผู้เรียนชอบมากที่สุด ตามงานวิจัยของฮาร์ท (Hart) เป็นอันดับ ๑๐ คือ วิทยากรที่มีบุคลิกดี

ในการฝึกอบรมหรือการสอนแต่ละครั้ง สิ่งแรกที่ผู้เรียนมีความสนใจอยากรู้คือ การปรากฏตัวของวิทยากร รูปร่างหน้าตา ท่าทางเป็นอย่างไร แต่งตัวแบบไหน ดังนั้นเรื่องของบุคลิกภาพจึงเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจ สร้างความเชื่อถือและศรัทธาให้เกิดขึ้น



บุคลิกภาพ คืออะไร

บุคลิกภาพ ตามความหมายของเบอร์นาร์ด (Bernard) หมายถึงผลรวมทั้งหมดของลักษณะทางร่างกาย พฤติกรรมตลอดจนความโน้มเอียงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และศักยภาพในการกระทำสิ่งต่างๆของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

เรื่องบุคลิกภาพจึงมิได้หมายเฉพาะสิ่งภายนอกที่มองเห็น เช่น การแต่งกาย แต่รวมไปถึงกิริยา วาจา ท่าทาง ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ฯลฯ การแสดงออกทางด้านบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียน หรือผู้พบเห็นเกิดความสนใจ นิยมศรัทธา ตลอดจนจูงใจให้อยากเรียนหรืออยากร่วมงานด้วย



ทักษะการใช้วาจา กิริยา ท่าทางประกอบการสอนได้แก่

๑. น้ำเสียง วิธีการพูด

๒. การแสดงออกทางสีหน้า สายตา

๓. การเคลื่อนไหว

๔. การใช้มือและแขน

๕. การแต่งกาย



น้ำเสียง วิธีการพูด

การสอนที่ดีวิทยากรต้องพูดเสียงดัง ฟังชัดเจน มีการเน้นเสียงและมีจังหวะในการพูด ไม่พูดเร็ว ไม่พูดด้วยน้ำเสียงในระดับเดียวกันหรือที่เรียกว่า “monotone” อาจต้องมีการใช้เสียงสูง ต่ำ ตามเนื้อหาและกาลเทศะ นอกจากนั้นจะต้องมีการออกเสียงตัว ร / ล และควบกล้ำที่ถูกต้อง เลือกภาษาที่เหมาะสมและถูกต้องตามความนิยม

น้ำเสียงของวิทยากรจะบอกถึงอารมณ์ และความรู้สึกของวิทยากรได้เป็นอย่างดี น้ำเสียงที่ใช้จึงต้องปรับให้เหมาะกับโอกาส สถานที่และวัยของผู้เรียน เช่น การพูดให้ดังขึ้นในห้องที่มีสถานที่รบกวน หรือการลดระดับเสียงให้เบาลงในห้องที่เงียบ


พฤติกรรมที่ไม่ดีของการใช้น้ำเสียง ดังนี้

- เสียงเบาเกินไป การพูดอ้อมแอ้มไม่เต็มเสียง และขาดความหนักแน่น

- พูดเสียงกระแทก ดุดัน เสียงแข็งกระด้าง หรือการตวาด

- พูดเสียงระดับเดียวกันตลอด

- พูดเร็วมากจนผู้เรียนฟังไม่ทัน

- พูดหยาบคาย ไม่สุภาพ พูดเสียดสี ประชดประชัน หรือมีการสบถเมื่อไม่สบอารมณ์

- ออกเสียงควบกล้ำตัว ร / ล ไม่ชัด

- พูดเสียงดังเกินไปจนเกือบจะเป็นตะโกน

- พูดติดๆ ขัดๆ เหมือนคนติดอ่าง พูดเสียงสั่นเครือ

- พูดไม่มีจังหวะหยุด หรือบางครั้งหยุดนานเกินไป

ฯลฯ

การแสดงออกทางสีหน้า สายตา
        การแสดงออกทางสีหน้า สายตา เป็นสื่อความหมายประเภทหนึ่ง ผู้เรียนจะอ่านความรู้สึกของวิทยากรจากพฤติกรรมดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกของวิทยากรนอกเหนือจากการสร้างบรรยากาศความอบอุ่นในห้อง หรือห้องฝึกอบรมแล้ว ยังเป็นการเสริมกำลังใจแก่ผู้เรียนด้วย การแสดงออกของวิทยากรจึงควรเป็นสภาพที่เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใสมิใช่บึ้งตึง หรือเคร่งเครียดเกินไป ในขณะที่สอนวิทยากรควรกวาดสายตาไปยังผู้เรียนทุกคน ไม่ควรจ้องเฉพาะคนใดคนหนึ่ง ยกเว้นขณะที่ผู้เรียนตอบ เมื่อตอบเสร็จวิทยากรก็ควรกวาดสายตาไปยังผู้เรียนคนอื่น


พฤติกรรมที่ไม่ดีของการแสดงออกทางสีหน้า สายตา ได้แก่

- การหลบสายตา

- การมองดูสิ่งที่มิใช่หน้าของผู้เรียน เช่น กระดาน เพดาน หลอดไฟ ฯลฯ

- การหาว การทำตาหวาน กรุ้มกริ่ม

- การแสดงสีหน้าเมินเฉย

- การเม้มริมฝีปาก

- การแสดงสีหน้ารำคาญ

- การมองด้วยหางตาตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

- การยิ้มเยาะหยันหรือทำท่าล้อเล่น

ฯลฯ

พฤติกรรมที่ควรทำ คือ การยิ้มพยักหน้ารับ เมื่อผู้เรียนตอบถูกต้อง หรือแสดงความคิดเห็นที่ดี หรือการส่ายหน้าพร้อมรอยยิ้ม เมื่อผู้เรียนตอบผิด เป็นต้น

การเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวของวิทยากรอาจจะมีหลายลักษณะ เช่น การเดินไปมา การเดินเพื่อคุมชั้นเรียน หรือผู้เรียนทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังรวมถึงอิริยาบถต่างๆ เช่น การหยุดยืน เพื่ออธิบายหรือใช้อุปกรณ์ การฟังคำตอบของผู้เรียน ฯลฯ

การเคลื่อนไหวที่ไม่ดี ได้แก่

- การเดินไปเดินมาตลอด

- ขณะที่วิทยากรกำลังทำการสอน จุดรวมของความสนใจจะอยู่ที่วิทยากร เดินไปเดินมา ผู้เรียนจะต้องหันหน้าตามอิริยาบถของวิทยากรตลอดเวลา

- การเดินเอามือล้วงกระเป๋า หรือเคาะจังหวะตามจังหวะการเดิน รวมถึงการเขย่าสิ่งที่อยู่ในกระเป๋า

- การเขย่าขา หรือบิดมือตลอดเวลา

- การเคาะ แกะ เกาสิ่งต่างๆ

- การสะบัดผม เสยผม ปัดผม

- การเคาะ หรือหมุนปากกาเล่น หรือโยนปากกาไปที่กระดานเมื่อเขียนเสร็จ

- การขยับกางเกง หรือเสื้อผ้า

ฯลฯ

การเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถต่างๆ มีมากมาย พฤติกรรมทุกอย่างมิได้หมายความว่าจะทำไม่ได้เลย อาจทำได้บ้างแต่ต้องอยู่ระดับของความพอดี คือ ไม่มากเกินไป

พฤติกรรมที่ดีขณะทำการสอน นอกเหนือจากวิธีการที่วิทยากรจำเป็นต้องใช้ในการสอน เช่น การสาธิต ฯลฯ วิทยากรควรมีการหยุดฟังคำตอบของผู้เรียน หรือเปลี่ยนที่ยืนขณะอธิบาย หรือเดินรอบๆ ห้องขณะคุมชั้น หรือเดินใกล้ผู้เรียนเป็นบางโอกาส เป็นต้น



การใช้มือและแขน

การใช้มือและแขนของวิทยากร เป็นอิริยาบถการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าการใช้มือและแขนไม่มากเกินไป (เช่น การใช้โบกขยับแสดงท่าทางเหมือนๆ กันตลอด) การใช้มือและแขนควรพอเหมาะกับการแสดงประกอบการพูด หรือข้อความที่ต้องการจะเน้น การแสดงออกของมือ จึงต้องมีความหมายสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิด โอกาสและเรื่องที่จะพูด ลักษณะทั่วไปก็ควรปล่อยตามปกติ ไม่ควรเกร็งหรือฝืน ในกรณีซึ่งตกใจหรือประหม่า ก็อาจใช้มือแตะโต๊ะให้พอรู้สึกว่า “เรามีเพื่อน”





พฤติกรรมที่ไม่ดีของการใช้มือและแขนขณะทำการสอน ดังนี้

- การใช้มือหรือนิ้วลบข้อความบนแผ่นใสหรือกระดาน

- ตบหรือใช้ไม้ฟาดโต๊ะแรงๆ

- เขย่าปากกาตลอดเวลา

- ขว้างของไปยังผู้เรียน

- ขยับเก้าอี้ไปมาอยู่เสมอ

- เท้าเอวเมื่อไม่พอใจ

- แคะ แกะ เกา ส่วนต่างๆ ขณะทำการสอน

- หักนิ้วมือเล่น

- ถูมือไปมาขณะอธิบาย

ฯลฯ



การแต่งกาย

การแต่งกายของวิทยากรต้องสุภาพเรียบร้อยตามสมัยนิยม โดยคำนึงถึงวัย รูปร่าง และฐานะของความเป็นวิทยากร รวมไปถึงความเหมาะสมกับโอกาส และให้เกียรติผู้เรียนและสถานที่

ข้อควรพิจารณา

ในกรณีวิทยากรเป็น “เพศชาย” หากสวมเสื้อแขนยาว การพับแขนเสื้อเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ หากเป็น “สุภาพสตรี” การนุ่งกระโปรงสั้นมากๆ หรือสวมชุดที่ค่อนข้างเปิดเผย (โป้) ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน การเลือกเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง หากเป็นสีสดสะดุดตาก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจผู้เรียนเป็นอย่างดี

การแสดงออกทางวาจา กิริยาท่าทางต่างๆ การแต่งกาย ฯลฯ เมื่อรวมเป็นบุคลิกของวิทยากรแล้ว จะกล่าวได้ว่าดีหรือไม่ดี วัดได้โดยอาศัยเกณฑ์ต่างๆ ข้างต้นเป็นสำคัญ



๒. การนำเข้าสู่บทเรียน



การนำเข้าสู่บทเรียน เป็นกิจกรรมก่อนการสอนเพื่อเรียกความสนใจของผู้เรียน ต้องการให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน อยากติดตาม หากนำการนำเข้าสู่บทเรียนมาใช้แล้ว ผู้เรียนจะเกิดพฤติกรรมดังต่อไปนี้

๑. พุ่งความสนใจมายังจุดที่วิทยากรสอน

๒. เข้าใจความคิดรวบยอด (Concept) หรือหลักการใหม่ๆ

๓. เกิดความสนใจในสิ่งที่จะเรียน



การนำเข้าสู่บทเรียนควรใช้ช่วงใด

๑. เมื่อเริ่มบทเรียน

๒. เมื่อเปลี่ยนหัวข้อ (Topic)

๓. ก่อนการฉายสไลด์ ภาพยนตร์ วีดีโอ ฯลฯ



วิธีการนำเข้าสู่บทเรียน

การนำเข้าสู่บทเรียนมี ๒ ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ ๑

เมื่อผู้เรียนเริ่มเข้าห้องเรียน ก่อนจะเริ่มใช้วิธีการนำเข้าสู่บทเรียนในช่วงที่ ๑ ควรให้ผู้เรียนมีความพร้อม ซึ่งอาจทำได้โดยการหยุด ไม่พูด มองดูรอบๆ ห้องจนกว่าผู้เรียนจะพร้อม ในกรณีต้องการความรวดเร็วอาจใช้เสียงเข้าช่วยทักทายผู้เรียน



ช่วงที่ ๒

หลังจากผู้เรียนพร้อมแล้ว วิทยากรจะใช้เทคนิคต่างๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน

๑. การใช้สื่อการสอนประกอบประเภทต่างๆ เช่น สไลด์ รูปภาพ วีดีโอ ภาพยนตร์ ฯลฯ

๒. เล่านิทาน หรือเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงกับเรื่องที่จะสอนได้

๓. การแสดงละคร หรือการแสดงบทบาท

๔. การสนทนาซักถาม

๕. การทบทวนบทเรียนเก่า หรือประสบการณ์เดิม

๖.ให้ผู้เรียนทำกิจกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กับหัวข้อ เช่น การแสดงวิธีผายปอด วิธีการเย็บแผล ฯลฯ

ทั้งนี้วิธีการที่ใช้ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ และเนื้อหาของบทเรียน



ข้อเสนอแนะสำหรับการฝึกทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน

การเลือกใช้วิธีการนำเข้าสู่บทเรียนแบบใดนั้น ควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้

๑. ประสบการณ์เดิมหรือความรู้เดิมของผู้เรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความรู้เรื่องนั้นแล้ว ความสนใจอาจไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น หรือถ้าไม่มีประสบการณ์เลย การเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะสอนอาจจะทำได้ยาก

๒. ศึกษาเนื้อเรื่องที่จะสอน และเลือกกิจกรรมให้มีการผสมผสานกันให้ดีที่สุด

๓. ศึกษากิจกรรมที่นำมาใช้อย่างถ่องแท้ เช่นถ้าเป็นโสตทัศนูปกรณ์ ควรศึกษาข้อจำกัดและเทคนิคของอุปกรณ์นั้นๆ หรือถ้าเป็นการเล่านิทาน ต้องมีวิธีการเล่าที่สนุกสนานน่าสนใจและน่าติดตามชม

๔. สำรวจความถนัดของวิทยากรว่ามีความถนัดด้านใด แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การร้องเพลง ฯลฯ ไม่ควรลอกเลียนแบบผู้อื่น ถ้าวิธีการนั้นไม่สามารถจะทำได้ดี



๓. การสรุปบทเรียน

การสรุปเป็นการกระทำที่คู่กับการนำเข้าสู่บทเรียน ซึ่งอาจใช้เมื่อ

๑. จบบทเรียน

๒. จบหัวข้อ

๓. เรื่องที่สนใจเฉพาะ

๔. กลางบทเรียนที่เหมาะสม

๕. หลังจบการอภิปราย



วัตถุประสงค์ของการสรุป

๑. รวบรวมความสนใจของผู้เรียนในสิ่งที่เรียนมาแล้ว

๒. สรุปสิ่งที่เรียนมาแล้ว

๓. ดูความเข้าใจของผู้เรียน

การสรุปนี้มีความละเอียดมากกว่าการย่อความ มีเนื้อหามากกว่า และต้องมีการโยงให้สัมพันธ์กับเหตุการณ์และสภาพที่เป็นอยู่


วิธีการสรุป

วิธีการสรุปทำได้หลายวิธี คือ

๑. โดยวิธีการตั้งคำถาม การใช้คำถามในขั้นนี้เป็นการกล่าวรวบรวมหรือสรุปหลักเกณฑ์กับข้อเท็จจริง หรือแนวคิดที่สำคัญ

๒. ให้ผู้เรียนทำกิจกรรม

๓. สร้างสถานการณ์ หมายถึงการแสดงละคร การสาธิต การแสดงบทบาท การสร้างสถานการณ์จำลอง

๔. ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมกับสิ่งที่เพิ่งเรียนจบ และสิ่งที่เรียนต่อไปในอนาคต

๕. ให้สาธิตในสิ่งที่เรียนไป  ฯลฯ

การสรุปจะได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้าผู้สรุปคือผู้เรียนและวิทยากรเสริมหรือเพิ่มในส่วนที่ขาดไป

๔. การแปรเปลี่ยนความสนใจ

โดยทั่วไปการที่เราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี เรามักต้องให้ความสนใจอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง และตัดสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป วิทยากรจำเป็นต้องมีทักษะในการช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิในสิ่งที่ทำอยู่ ความสนใจของคนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ เป็นการยากที่คนเราจะสนใจสิ่งเดียวเกินกว่า ๒ – ๓ ชั่วโมง เช่นการฟังการบรรยายที่ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง มีน้อยคนที่จะมีสมาธิฟังอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งอาจคิดถึงสิ่งอื่น หรือมองดูคนอื่นในห้อง หรือนั่งวาดรูปเล่น ฯลฯ วิทยากรจำเป็นต้องรู้เทคนิคที่จะให้ผู้เรียนสนใจกับสิ่งที่เรียน จากการค้นคว้าทางจิตวิทยาของนักวิชาการพบว่า สิ่งที่ทำให้คนเราสนใจได้แก่

๑. ความเข้มข้น (Intensity) เช่น เสียงยิ่งดัง แสงสว่างยิ่งสว่าง ยิ่งดูดความสนใจได้มาก

๒. ความแตกต่าง (Contrast) สิ่งใดก็ตามที่ใหญ่หรือแปลกไปจากสิ่งรอบตัว ย่อมดึงดูดความสนใจได้ เช่น ปิดไฟให้มืด เร่งเสียงให้ดัง หรือพูดเสียงดัง

๓. การเคลื่อนไหว (Movement) สายตาของเรามักจะมองสิ่งที่เคลื่อนไหว เช่น การเดินของวิทยากร

๔. กิจกรรมที่ทำด้วยตนเอง (Self – activity) เช่น ปรบมือ ให้ยืน ให้เดินออกกำลังกาย ฯลฯ



วิธีการซึ่งทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนความสนใจ

๑. การเคลื่อนไหวของวิทยากร เช่น การเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

๒. ท่าทางของวิทยากร หมายถึงการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเน้นความสำคัญ เพื่อแสดงอารมณ์ เพื่อบอกขนาด รูปร่าง

๓. การเปลี่ยนวิธีพูด หมายถึงการเปลี่ยนวิธีพูดอย่างกะทันหัน ได้แก่การเปลี่ยนน้ำเสียง เปลี่ยนความดังของเสียง หรือเปลี่ยนจังหวะการพูด

๔. การเปลี่ยนจุดประสาทสัมผัส เช่น จากการฟังเป็นการดู จากการอ่านเป็นการเขียน จากการฟังอภิปรายเป็นการลงมือทำ จากการดูกระดานเป็นการดูสไลด์ จากการฟังวิทยากรพูดเป็นการฟังจากเทป

๕. การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมพูด เช่น ออกมารายงานหน้าชั้น

๖. การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรม เช่น การแสดงละคร ฯลฯ

๗. การใช้อุปกรณ์ เช่น วีดีโอ หรือเทป

๘. การแสดงท่าทางประกอบ

๙. การเล่าเรื่องสั้น

๑๐.การตั้งปัญหาและการซักถาม

๑๑.การแสดงบทบาท

๑๒. การเล่นเกม

๑๓.การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน

๑๔.การให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น

๑๕.การให้ออกมาร่วมสาธิต

การใช้วิธีการแปรเปลี่ยนความสนใจ อาจใช้หลายๆ วิธีก็ได้ในการสอนครั้งเดียว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ต้องให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของการสอนแต่ละขั้นตอน



๕. การอธิบายยกตัวอย่าง

การอธิบายเป็นทักษะที่มีความจำเป็นในการสอน เพราะเป็นการสื่อความหมายระหว่างผู้เรียนกับวิทยากรให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน การอธิบายความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรมนั้น มักทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ยาก สิ่งที่น่าจะช่วยคือต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม โดยอาศัยการยกตัวอย่าง ด้วยเหตุนี้การยกตัวอย่างจึงเป็นเรื่องหนึ่งในกระบวนการอธิบายที่จะเสริมหรือช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้น



การอธิบายที่ดีมีลักษณะอย่างไร

๑. ใช้ภาษาง่ายๆ กะทัดรัด

๒. ให้ความหมายชัดเจน น่าสนใจและครอบคลุมความสำคัญ

๓. บุคลิกภาพของผู้อธิบาย ต้องเป็นผู้ยิ้มแย้ม มีความเป็นกันเองกับผู้เรียน เป็นผู้มีความรู้ดี มีความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่จะอธิบาย

๔. วิทยากรต้องรู้ระดับของผู้ฟัง เพื่อจะได้ใช้คำอธิบายและภาษาได้เหมาะสม

๕. การจัดลำดับเรื่องที่จะอธิบาย โดยวางโครงเรื่องที่จะอธิบายไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ตอนใดควรย้ำหรือเน้น หรือมีการสรุปเป็นช่วงๆ

๖. การอธิบายต้องคำนึงถึงระดับเสียง การเว้นระยะความเร็ว



วิธีการอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

วิธีการอธิบายและยกตัวอย่างประกอบนั้น เพื่อขยายสาระให้กระจ่างขึ้นอาจทำได้ ๒ วิธีคือ

๑. แบบนิรนัย (Deductive) หรือแบบกฎสู่ตัวอย่าง

๒. แบบอุปนัย (Inducitive) หรือแบบตัวอย่างสู่กฎ







แบบกฎสู่ตัวอย่าง

มีวิธีการดังนี้ คือ

๑. บอกกฎ ข้อคิด หรือหลักเกณฑ์ก่อน

๒. ยกตัวอย่างที่จะแสดง หรือขยายหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น

วิทยากร “หญ้าทุกแห่งเป็นสีเขียว ให้ยกตัวอย่างมาคนละ ๑ อย่าง”

ผู้เรียน “หญ้าที่ขึ้นข้างโรงงานเป็นสีเขียว

หญ้าที่บ้านดิฉันเป็นสีเขียว

หญ้าที่ขึ้นข้างหน้าต่างนี้สีเขียว”



แบบตัวอย่างสู่กฎ

มีขั้นตอน ดังนี้คือ

๑.วิทยากรยกตัวอย่างมาอภิปรายร่วมกับผู้เรียน โดยเริ่มจากตัวอย่างที่ง่ายไปหาตัวอย่างที่ยากขึ้น

๒. เมื่อถึงเวลาที่สมควร คิดว่าผู้เรียนพอจะเข้าใจ วิทยากรจะให้ผู้เรียนสรุปเป็นกฎเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น

วิทยากร “หญ้าที่ขึ้นนอกหน้าต่างนี้สีเขียว หญ้าที่ขึ้นในโรงงานก็สีเขียว

หญ้าในสนามหญ้าที่บ้านนี้ก็สีเขียวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพวกเราคิดว่า ควรจะพูดสรุปเกี่ยวกับหญ้าได้อย่างไร ?”

ผู้เรียน “สรุปได้ว่าหญ้าทุกแห่งเป็นสีเขียว”

การเลือกใช้วิธีใดนั้น เราต้องพิจารณาว่าวิธีไหนง่ายที่สุดสำหรับวิทยากร วิธีไหนจะท้าทายความสนใจของผู้เรียนได้มากกว่า



การนำตัวอย่างมาขยายคำอธิบาย

การนำตัวอย่างมาขยายคำอธิบายของผู้เรียนนั้น สิ่งที่นำมาอาจจะมีได้หลายอย่างคือ

๑. ใช้ถ้อยคำวาจา

ได้แก่คำพังเพย โคลงกลอน สุภาษิต คำขวัญ คติพจน์ นิทาน การเล่าเรื่อง ตลอดจนบทเพลงต่างๆที่มีความหมาย หรือเปรียบเทียบได้กับนามธรรมหรือสิ่งที่ต้องการจะอธิบาย ข้อความที่ยกมาเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสาระสำคัญเด่นชัดขึ้น เช่น

- เครื่องปั้มกับการทำงานของหัวใจ

- กระดองปูกับรถถัง

- การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนกับปิดทองหลังพระ ฯลฯ

๒. ใช้กิจกรรม

ได้แก่การให้ผู้เรียนได้ฝึกทดลองทำ สาธิตหรือใช้การแสดงบทบาท หรือใช้การจำลองสถานการณ์ต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจชัดเจนได้ โดยใช้การกระทำของตน ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่นการฝึกเป็นวิทยากร การสาธิตหรือการให้ผู้เรียนลองปฏิบัติ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีกว่าการอธิบายเพียงอย่างเดียว และได้เกิดทักษะจากการลองฝึกปฏิบัติด้วย

๓. ใช้อุปกรณ์

การใช้อุปกรณ์ประกอบคำอธิบายจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ถูกต้อง รวดเร็วขึ้น อุปกรณ์มีทั้งของจริง ของจำลอง และโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เมื่อผู้เรียนได้เห็น ได้สัมผัส ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ



การเลือกตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

๑. น่าสนใจ

๒. ง่ายแก่การเข้าใจ

๓. สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

๔. เหมาะกับพื้นฐานความรู้ และความสนใจของผู้เรียน



ข้อควรระวังในการยกตัวอย่าง

๑. การยกตัวอย่างมากเกินไป อาจทำให้ผู้เรียนมีความสับสน

๒. ควรมีการโยงตัวอย่างให้เข้ากับสาระสำคัญ



๖. การเสริมกำลังใจ

การเสริมกำลังใจเป็นพฤติกรรมที่วิทยากรสนองตอบผู้เรียน ในรูปของการตอบด้วยวาจา การเขียนหรือการสัมผัส จัดเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการสอน เพราะการเสริมกำลังใจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียน การเสริมกำลังใจอาจแบ่งได้ ๓ ประเภท

๑. การเสริมกำลังใจที่พึงปรารถนา เช่น การยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน โดยอาจแสดงออกในรูปแบบของการชม การปรบมือ ฯลฯ

๒. การเสริมกำลังใจที่มีปฏิกิริยาเป็นกลาง เช่น การตอบคำว่า“ถูก” “เห็นด้วย” ด้วยน้ำเสียงกลางๆ ไม่มีการเน้น

๓. การเสริมกำลังใจชนิดที่ไม่พึงปรารถนา เช่น การไม่ยอมรับความคิดเห็น

การเสริมกำลังใจแต่ละประเภท จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนต่างกัน วิทยากรควรพยายามใช้การเสริมกำลังใจในการสอน โดยการปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้เรียน จังหวะและโอกาส อาจกล่าวได้ว่าหากมีการใช้การเสริมกำลังใจถูกต้อง ผู้เรียนจะสนใจบทเรียนมากขึ้น มีความมั่นใจและกล้าแสดงออก หรืออาจเกิดแรงจูงใจที่จะค้นหาความรู้ยิ่งขึ้น



วิธีการเสริมกำลังใจ

วิธีการเสริมกำลังใจที่อาจนำมาใช้ในการสอน หรือการฝึกอบรมได้แก่

๑. การเสริมกำลังใจด้วยวาจา เช่น การกล่าวว่าดี ดีมาก ใช้ได้ ถูกต้อง เป็นความคิดที่เฉียบแหลม ฯลฯ

๒. การเสริมกำลังใจด้วยท่าทาง เช่น การยิ้ม การพยักหน้า การใช้สายตาแสดงความสนใจในคำตอบ การปรบมือ ฯลฯ

๓. การเสริมกำลังใจด้วยการให้รางวัลหรือสัญลักษณ์ เช่น การให้สิ่งของเมื่อผู้เรียนตอบถูกต้อง การเขียนเครื่องหมาย เช่น รูปดาว พร้อมคำชมเชย การจารึกชื่อบนฝาผนัง การนำผลงานของผู้เข้ารับการอบรมมาแสดงเป็นตัวอย่าง เป็นต้น



การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอน

การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอนอาจทำได้ ดังนี้

๑. เสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสม เช่น เมื่อผู้เรียนตอบถูกก็ชมทันที

๒. ไม่พูดเกินความจริง มิฉะนั้นผู้ฟังจะขาดความศรัทธา เช่น เมื่อผู้เรียนตอบถูกทั้งหมดก็อาจชมว่า “เก่งมากๆ” “เก่งจริงๆ” แต่ถ้าผู้เรียนตอบถูกเป็นบางส่วน ก็ชมเชยเฉพาะส่วนที่ถูก พร้อมทั้งแนะนำส่วนที่ผิด

๓. ใช้วิธีในการเสริมกำลังใจหลายๆ วิธี ไม่ใช่พูดคำที่ซ้ำซาก จำเจกับผู้เรียนทุกคน

๔. ไม่ควรเสริมกำลังใจบางประเภทบ่อยเกินไป เช่น การให้รางวัล เพราะจะทำให้ผู้เรียนไม่เห็นคุณค่าของการเสริมกำลังใจนั้น

๕. พยายามหาโอกาสเสริมกำลังใจให้ทั่วถึงกัน (ไม่จำเป็นต้องเสริมในชั่วโมงเดียวกัน) โดยใช้วิธีการเสริมกำลังใจต่างกัน และในโอกาสต่างๆ กัน

๖. การเสริมกำลังใจควรเป็นไปในทางบวกมากกว่าทางลบ

๗. การเสริมกำลังใจไม่ควรมาจากวิทยากรเพียงคนเดียว ควรใช้สิ่งแวดล้อมช่วยด้วย เช่น ให้ผู้เรียนคนอื่นปรบมือ

๘. เสริมกำลังใจด้วยท่าทีที่จริงจัง อาจต้องใช้วาจาและท่าทางประกอบด้วย









ข้อควรพิจารณาเมื่อใช้การเสริมกำลังใจ

๑. ผู้เรียนควรได้รับการเสริมกำลังใจทันที เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนการสอน

๒. ควรเลือกวิธีการเสริมกำลังใจให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน

๓. การทำโทษ โดยทั่วไปไม่ใช่เป็นการเสริมกำลังใจที่พึงปรารถนา แต่ใช้เมื่อต้องการกำจัดพฤติกรรมนั้นๆ

๔. การเสริมกำลังใจมีลักษณะพิเศษ คน ๒ คนซึ่งได้รับการเสริมกำลังใจที่เหมือนกัน ผู้เรียนคนหนึ่งอาจเห็นว่าการเสริมกำลังใจนั้นเป็นสิ่งไม่มีค่าก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ได้รับการเสริมกำลังใจ

๕. การเสริมกำลังของวิทยากรอย่างแข็งขัน รวมทั้งการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา จะมีผลดีกว่าการเสริมกำลังใจแบบเฉื่อยชา และการอ้อมค้อม ไม่ตรงประเด็น

๖. การเสริมกำลังใจเป็นการช่วยให้ผู้ได้รับการเสริมแรง ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของตน หรือทราบว่าสิ่งที่ตนแสดงไปนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นการเสริมแรงจึงอาจใช้เป็นเครื่องช่วยแก้ไขพฤติกรรมได้

๗. การเสริมกำลังใจในทางลบโดยการลงโทษ มิได้เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่พึงปรารถนาได้เสมอไป แต่อาจทำให้ผู้เรียนหยุดแสดงพฤติกรรมนั้นชั่วขณะ เมื่อวิทยากรจำเป็นต้องใช้การลงโทษ วิทยากรควรบอกให้ผู้เรียนทราบถึงพฤติกรรมที่ต้องการ เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่วิทยากรต้องการ วิทยากรก็ควรเสริมกำลังใจผู้เรียนทันที

๘. เมื่อผู้เรียนไม่สามารถแสดงพฤติกรรมที่วิทยากรต้องการได้ แต่ได้แสดงพฤติกรรมใกล้เคียง วิทยากรควรให้การเสริมกำลังใจเพื่อให้ผู้เรียนนั้นมีกำลังใจ และมีความพยายามมากขึ้น ในที่สุดผู้เรียนอาจจะแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้สำเร็จ

๙. การเสริมกำลังใจควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างมีระบบและมีระเบียบ

๑๐. ผู้เรียนที่เรียนเก่งอาจไม่ต้องการคำชม หรือความช่วยเหลือจากวิทยากรมากเท่ากับผู้เรียนที่เรียนอ่อน ยิ่งมีอายุน้อยเท่าใด ย่อมต้องการเสริมกำลังใจมากขึ้นเพียงนั้น

๑๑. พฤติกรรมการเสริมกำลังใจที่เป็นกลางๆ ของวิทยากร หากทำบ่อยๆ ผลอาจเป็นลบได้ จะทำให้ผู้เรียนหมดกำลังใจ

กล่าวโดยสรุป คือการเสริมกำลังใจมีมากมายหลายอย่าง วิทยากรจำเป็นต้องดูความเหมาะสมก่อนพิจารณาเลือกใช้ จึงจะบังเกิดผลตรงกับความต้องการมากที่สุด









๗. การบรรยาย

การบรรยาย (Lecture) หมายถึงวิธีที่วิทยากรเป็นผู้พูด บอกเล่าหรืออธิบายเนื้อหาแก่ผู้เรียน วิทยากรเป็นผู้เตรียมการค้นคว้าในเรื่องที่จะสอนมาเป็นอย่างดี ผู้เรียนเป็นผู้รับการถ่ายทอด โดยการจดบันทึกหรือท่องจำ การสอนโดยการบรรยายตามความหมายดั้งเดิม หมายถึงวิทยากรเป็นผู้พูดตลอด ผู้เรียนมิได้มีส่วนร่วม ต่อมาได้มีการประยุกต์ใช้วิธีการสอนแบบอื่นๆ เข้ามาร่วม เพื่อให้การบรรยายน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น การถาม – ตอบ การแสดงบทบาท การใช้สื่อการสอน การทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น ฯลฯ

วิธีการบรรยายนี้จัดว่ามีข้อดี คือสามารถสอนได้จำนวนมาก โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เรียน สามารถปลูกฝังแนวความคิดและเจตคติที่พึงปรารถนาได้ แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้นมีหลายประการ เช่น วิทยากรไม่ทราบผลว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่ ผู้เรียนไม่มีโอกาสแสดงออก อาจเบื่อหน่ายง่าย และเป็นการยากที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจ ติดตามวิธีการสอนแบบนี้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามการสอนแบบบรรยาย เป็นวิธีการสอนที่คนทั่วไปนิยมมากวิธีหนึ่ง หากผู้เป็นวิทยากรมีความสามารถในการบรรยาย รู้จักปรับปรุงวิธีการบรรยายให้น่าสนใจ ผลที่เกิดขึ้นจะพบว่าวิธีการสอนแบบบรรยายก่อให้เกิดการเรียนรู้เป็นอย่างมากในตัวผู้เรียน



วิธีการสอนแบบบรรยายให้ได้ผลจะทำอย่างไร

๑. ควรมีการบอกวัตถุประสงค์ และขอบเขตของเนื้อเรื่องที่จะบรรยาย

๒. มีการใช้น้ำเสียงและท่าทางที่เร้าความสนใจ ควรมีการเปลี่ยนระดับเสียง ไม่ใช้ระดับเสียงเดียวกันตลอดเวลาที่พูด

๓. มีการเน้นจุดที่สำคัญ

๔. วิทยากรควรมีการเคลื่อนไหว เพื่อผู้เรียนจะได้เห็นชัดและดึงดูดความสนใจของผู้เรียน

๕. วิทยากรควรมีบุคลิกที่มั่นใจในตัวเอง

๖. มีการเขียนความคิดรวบยอดที่สำคัญบนกระดานหรือแผ่นใส

๗. มีการจัดลำดับการพูด โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือช่วงที่ ๑ เป็นช่วงการกล่าวนำเพื่อกระตุ้นความสนใจ ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงเนื้อหา และช่วงที่ ๓ เป็นช่วงสรุป

๘. มีการใช้คำถามที่ถามโดยไม่มุ่งหวังการตอบ แต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนติดตาม และเป็นการเร้าความสนใจ

๙. มีการใช้โสตทัศนูปกรณ์ประกอบการสอน เช่น แผนภูมิ สไลด์ วีดีโอ ฯลฯ เป็นการดึงดูดความสนใจ

๑๐. ใช้วิธีการอื่นเพื่อให้การบรรยายน่าสนใจ เช่น การสาธิต การอภิปรายเป็นกลุ่ม เป็นต้น



๘. การสาธิต

การสาธิต คือวิธีการที่วิทยากรแสดงหรือทดลอง และอธิบายไปพร้อมๆ กัน ผู้เรียนเป็นผู้ดู ผู้ฟัง พร้อมทั้งจดบันทึกตามที่วิทยากรแสดง ทดลอง หรืออธิบาย วิธีการสาธิตเป็นการแสดงหรือกระทำ เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นและได้เข้าใจอย่างชัดเจน อาจเป็นการแสดงโดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือ วิธีการสาธิตอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้

๑. วิทยากรเป็นผู้สาธิต

๒. วิทยากรและผู้เรียนร่วมกันสาธิต โดยมีผู้เรียนเป็นผู้ช่วย

๓. ผู้เรียนทั้งกลุ่มเป็นผู้สาธิต

๔. ผู้เรียนคนเดียวเป็นผู้สาธิต

๕. วิทยากรภายนอกเป็นผู้สาธิต



การเตรียมการสอนแบบสาธิต

เนื่องจากการสาธิตเป็นวิธีการที่ผู้เรียนต้องได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสฯลฯ ดังนั้นถ้าผู้เรียนมีจำนวนมากเกินไป อาจทำให้ผู้เรียนบางคนไม่เห็นหรือได้ยิน ดังนั้น การเตรียมการสอน อาจต้องเตรียมการถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดเข้ามาช่วย หรือผู้สอนต้องมั่นใจว่าผู้เรียนทั้งหมดมองเห็นการสาธิตได้ง่ายและชัดเจน การสาธิตจะเหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก





การสอนแบบสาธิต มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้



วิทยากร ผู้เรียน

๑.บอกวัตถุประสงค์ของการสาธิต ๑. รับทราบวัตถุประสงค์

๒. สาธิตการปฏิบัติที่ถูกต้อง ๒. สังเกตการปฏิบัติ

๓. แนะให้คิดตามลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ๓. ติดตามลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ

๔. จัดให้มีการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ๔. ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง

๕. ให้ข้อติชมที่เหมาะสม ๕. แก้ไขข้อผิดพลาดและทำซ้ำใหม่

๖. เสริมสร้างให้ผู้เรียนมีการประเมินผล การปฏิบัติด้วยตนเอง ๖. ประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง









ข้อควรคำนึงในการสอนแบบสาธิต

๑. วิทยากรต้องมีความพร้อม เช่น มีความรู้ในเรื่องที่สาธิตและการอธิบายต้องผสมกลมกลืนกัน มีอุปกรณ์ครบถ้วนและพร้อมที่จะปฏิบัติ

๒. วิทยากรต้องมีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือเป็นอย่างดี

๓. วิทยากรต้องจัดเครื่องมือ หรือวัสดุต่างๆ ไว้ให้เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ และควรทดสอบดูว่าเครื่องมือหรือวัสดุต่างๆ เหล่านั้นอยู่ในสภาพที่ใช้ได้

๔. ควรระวังอย่าใช้เวลาในการสาธิตมาก จนผู้เรียนไม่มีเวลาปฏิบัติ

๕. การสาธิตในวิชาที่ให้เกิดแนวคิดหรือความคิดริเริ่ม เช่น การพูด การเขียน การขับร้อง ฯลฯ ควรสาธิตเฉพาะเทคนิคการปฏิบัติ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยควรให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

๖. วิทยากรควรบอกวัตถุประสงค์ของการสาธิตให้ผู้เรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนติดตามได้อย่างถูกต้อง

๗. การสาธิตต้องมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย

๘. วิทยากรไม่ควรบอกผลที่จะเกิดขึ้นก่อน แต่ควรให้ผู้เรียนสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเร้าใจให้ผู้เรียนติดตามโดยตลอด

๙. วิทยากรควรคำนึงเรื่องเวลาที่ใช้ในการสาธิต โดยไม่มีการเร่งเวลาขณะสาธิต ควรทำเป็นลำดับขั้นตอน และมั่นใจว่าการสาธิตจะได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

๑๐. วิทยากรสาธิตอย่างมีชีวิตชีวาทั้งน้ำเสียง และท่าทางที่เร้าความสนใจ

๑๑. วิทยากรควรเน้นจุดสำคัญของเนื้อเรื่องที่ทำการสาธิต

๑๒. พยายามสังเกตสีหน้าของผู้เรียนว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร เช่น ไม่เข้าใจ ไม่ตั้งใจ วิทยากรควรพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

๑๓. วิทยากรต้องมีความสามารถนำผลจากการสาธิต โยงให้สัมพันธ์กับบทเรียนที่จะสอน

๑๔. ต้องเข้าใจว่าผู้เรียนมีความสามารถและทักษะในการเรียนรู้แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เรียนทุกคนจึงไม่อาจเกิดการเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน



๙. การสอนโดยใช้คำถาม

การสอนด้วยวิธีการใช้คำถาม เป็นวิธีการที่เก่าแก่และใช้กันทั่วไป การสอนเกือบทุกวิธีการจะมีการตั้งคำถามแทรกอยู่ อาจกล่าวได้ว่าคำถามเป็นเครื่องมือประจำตัวที่ใช้ในการสอนของวิทยากรทุกคน ถ้าวิทยากรสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม และรู้จักสร้างเครื่องมือให้มีคุณภาพดี ก็จะทำให้การสอนประสบความสำเร็จ



ประเภทของคำถาม



ประเภทของคำถามจำแนกออกเป็น ๒๒ ชนิด คือ

๑. คำถามเพื่อวัดความจำ

๒. คำถามเพื่อจัดลำดับความจำ

๓. คำถามเพื่อเปรียบเทียบ

๔. คำถามเพื่อบอกความแตกต่าง

๕. คำถามเพื่อประมวลผล

๖. คำถามเพื่อหาสาเหตุ

๗. คำถามเพื่อถามผล

๘. คำถามเพื่อให้แสดงโดยใช้ภาพประกอบ

๙. คำถามเพื่อจัดกลุ่ม

๑๐. คำถามเพื่อสรุป

๑๑. คำถามเพื่อให้คำจำกัดความ

๑๒. คำถามเพื่อพิสูจน์

๑๓. คำถามเพื่อบรรยาย

๑๔. คำถามเพื่อแสดงลักษณะ

๑๕. คำถามเพื่อบอกความสัมพันธ์

๑๖. คำถามเพื่อเล่าเรื่องย่อ

๑๗. คำถามเพื่อวิจารณ์

๑๘. คำถามเพื่อการนำไปใช้

๑๙. คำถามเพื่อให้รวบรวม

๒๐. คำถามเพื่อให้เลือก

๒๑. คำถามเพื่อวิเคราะห์

๒๒. คำถามเพื่อสังเคราะห์



วัตถุประสงค์ในการถามคำถาม

๑. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน

๒. ทดสอบความเข้าใจของผู้เรียน

๓. ทำให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน

๔. ทดสอบความรู้ของผู้เรียน

๕. ดูจุดอ่อน จุดแข็งของผู้เรียน

๖. เริ่มต้นการอภิปราย หรือวิธีการสอนแบบอื่น

๗. ให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจที่สามารถตอบถูก

๘. ฝึกให้รู้จักอภิปรายปัญหา

๙. ดูการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน

๑๐. ทบทวน

๑๑. กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้

๑๒. วัดผลการสอนของวิทยากร

๑๓. ดึงความสนใจของผู้เรียนกลับมา



ลักษณะของคำถามที่ดี

เยาคามและซิมซัน (Gerald A. Yoakam and Robert G. simpson) ได้ให้ลักษณะของคำถามที่ดีไว้ดังนี้

๑. ชัดแจ้ง ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แม้ว่าตนเองจะไม่ทราบคำตอบ แต่ผู้เรียนเข้าใจว่าผู้ถามต้องการถามอะไร เช่น “ใครเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ ?” จัดเป็นคำถามที่ดี แต่ถ้าถามว่า “ใครเป็นกษัตริย์” จะเป็นคำถามที่ไม่ชัดแจ้ง

๒. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายต่อการเข้าใจ ไม่เกินที่ผู้ตอบในวัยนั้นจะเข้าใจ

๓. ท้าทาย เป็นคำถามที่เร้าและกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด เช่น “การที่รัฐบาลจะขายรัฐวิสาหกิจให้กับต่างประเทศ พวกเราคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ ?”

๔. เป็นคำถามที่แน่นอน ที่ต้องการคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นคำถามที่เป็นปัญหาโลกแตก เช่น “ท่านคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ ?”

๕. เฉพาะเจาะจง คำถามที่ดีต้องการคำตอบที่เฉพาะเจาะจง มากกว่าคำตอบทั่วๆ ไป



ข้อควรคำนึงในการถาม

คันนิ่งแฮม (Cunningham) ได้เสนอแนะว่าในการใช้คำถาม วิทยากรควรหลีกเลี่ยงคำถามดังต่อไปนี้

๑. การตั้งคำถามที่สับสน ซึ่งรวมหลายๆ ความคิดเข้าด้วยกัน

๒. คำถามที่ป้อนคำตอบ ซึ่งแนะนำแนวทางให้ผู้ตอบมากเกินไป

๓. คำถามคลุมเครือ ซึ่งขาดหลักเกณฑ์ที่จะนำมาตอบคำถามได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ตอบเดาคำตอบ

๔. คำถามใช่ – ไม่ใช่ ซึ่งผู้ตอบจะตอบเพียงใช่ - ไม่ใช่เท่านั้น

การสอนโดยการใช้คำถาม เป็นวิธีการที่แทรกปะปนกับวิธีการสอนแบบอื่นๆ เช่น การสอนแบบสืบสวนสอบสวน การสอนแบบบรรยาย การสอนแบบสาธิต ฯลฯ ทุกวิชา ทุกสาขา ต้องมีการสอนแบบใช้คำถาม กลวิธีการใช้การสอนแบบนี้ อาจทำได้ทั้งการนำเข้าสู่บทเรียน การสรุปบทเรียน การดำเนินการสอน และการเร้าความสนใจ ประสิทธิผลในการสอนแบบนี้ ขึ้นอยู่กับวิทยากรมีความสามารถในการตั้งคำถามได้ดีเพียงใดเป็นประการสำคัญ



๑๐. การใช้สื่อ โสตทัศนูปกรณ์

อุปกรณ์ต่างๆ เช่นรูปภาพ สไลด์ วีดีโอ เทปบันทึกเสียง คอมพิวเตอร์ มีส่วนทำให้งานของวิทยากรง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีคำถามว่าในการบรรยายของวิทยากรทุกครั้ง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือไม่



วิทยากรควรใช้อุปกรณ์ประกอบการบรรยายเมื่อไร

วิทยากรจะใช้อุปกรณ์ประกอบการบรรยายเมื่อ

๑. ต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจได้มากขึ้น

๒. เรื่องที่พูดชัดเจนขึ้น

๓. เมื่ออุปกรณ์นั้นสร้างความสนใจและดึงดูดความสนใจ

๔. ประหยัดเวลาในการบรรยาย

๕. เวทีหรือสถานที่เหมาะสมที่จะใช้อุปกรณ์

๖. คุ้มค่ากับเวลา เงิน และความพยายามในการลงมือจัดทำ

๗. อุปกรณ์นั้นสอดคล้องกับเรื่องที่พูด

๘. ให้จำง่ายและก่อให้เกิดแนวคิดในสิ่งที่เรียน



วิธีการเลือกอุปกรณ์ประกอบการบรรยาย

วิธีการเลือกอุปกรณ์ประกอบการบรรยายมีดังต่อไปนี้

๑. มีขนาดพอเหมาะกับจำนวนผู้เรียน เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อฉายวีดีโอที่มีขนาดใหญ่ หรือมีเครื่องฉาย วีดีโอโปรเจคเตอร์ฉายขึ้นจอใหญ่ ทำให้ทุกคนเห็นได้ชัด

๒. จำนวนพอเพียงกับผู้เรียน หรือผู้เรียนมีโอกาสหมุนเวียนทดลองใช้อย่างทั่วถึง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือประกอบการฝึกหัด

๓. สภาพของอุปกรณ์อยู่ในสภาพซึ่งใช้งานได้ดี เช่น ภาพของวีดีโอควรชัดเจน ไม่พร่ามัว

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในการให้บริการออนไลน์สำหรับการช่วยเหลือเงินกู้ 200,000 ยูโรเพื่อเริ่มต้นครอบครัวของฉันภายใน 24 ชั่วโมงหากคุณสนใจที่จะกู้เงินด่วนในอัตราต่ำติดต่อ Trustloan Online Services ที่: {trustloan88 @ g m a l l. c o m}

    ตอบลบ