วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

http://www.tantee.net/board/user/index_board.php?board=ployjumpa&bid=1

http://www.tantee.net/board/user/index_board.php?board=ployjumpa&bid=1

นิทานปรัชญา

กบน้อยกับเต่าทะเล

มีกบน้อยตัวหนึ่งมีนิสัยชอบโอ้อวดในเรื่องที่อยู่อาศัยของตน ไม่ยอมเปิดใจให้กว้างที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่อย่างใด เพราะเข้าใจว่าที่อยู่ของตนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่าใครเขา

วันหนึ่งเจ้ากบน้อยได้เห็นเต่าทะเลผ่านมา จึงทักทายและชวนคุย และด้วยความที่เป็นผู้ชอบโอ้อวด กบน้อยจึงมิวายที่จะกล่าวอวดบารมีของตนให้เต่าฟัง

“ท่านเต่า ท่านเชื่อไหมว่าข้าอาศัยอยู่บ่อนี้มีความสุขมาก วันๆ ข้าก็จะกระโดดและแหวกว่ายน้ำอย่างอิสระ เมื่อถึงเวลาพักผ่อน ข้าก็นอนพักอยู่ในโพรงข้างกำแพงบ่อ ข้ามีความสุขมาก แม้แต่พวกเจ้าหนอน ปู และลูกอ๊อดก็ไม่มีใครเทียบกับข้าได้ ข้านี่แหละคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบ่อนี้ ข้าดูสูงศักดิ์มากที่สุดเมื่ออยู่ในบ่อนี้ ข้ามีความสุขใจยิ่ง ท่านไม่มาเยี่ยมชมที่อ ยู่ของข้าหน่อยหรือ”

ฝ่ายเต่าทะเลเมื่อได้รับฟังกบน้อยเล่าให้ฟัง และเชื้อเชิญให้ไปชมที่อยู่ของตน จึงตัดสินใจที่จะลงไปในบ่อนั้น ทว่าเมื่อยื่นขาลงไปก็ไม่สามารถที่จะลงไปได้ เนื่องจากบ่อตื้นและเล็กมาก เต่าทะเลจึงต้องเลิกล้มความพยายามที่จะลงไปในที่อยู่ของกบ

หลังจากนั้นเพื่อเป็นการเตือนสติ และเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับกบน้อย เต่าทะเลจึงเล่าเรื่องที่อยู่ในทะเลของตนให้กบฟัง

“ความกว้างใหญ่ของทะเลนั้นยิ่งใหญ่มาก แม้ระยะทางจะกี่พันกิโลก็ไม่ทำให้รู้ถึงความกว้างของทะเล แม้ความสูงกี่พันศอกก็เทียบไม่ได้กับความลึกของทะเล ในทะเลไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่เคยเห็นน้ำทะเลแห้งหรือลดลงแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ความสุขที่ยิ่งใหญ่ของข้า ก็คือการได้แหวกว่ายอยู่ในทะเลอันกว้างใหญ่นั้น”

หลังจากที่กบได้ฟังเรื่องดังกล่าว ก็รู้สึกละอายในความหยิ่งยโสของตัวเองยิ่งนัก ทำให้กบน้อยตาสว่างขึ้น และได้รู้ถึงความไม่สำคัญของตน ตลอดถึงรู้จักตระหนักในความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่ตัวเองยังไม่รู้จักอีกมากมาย



ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน
มีอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งชอบนอนกลางวันเป็นระจำ ทว่าเมื่อถูกลูกศิษย์ถามก็มักจะตอบว่าไม่ได้นอนหลับ แต่เป็นการเข้าฌานเพื่อไปพบพระอรหันต์เช่นเดียวกับท่านขงจื้อในอดีต ที่เคยไปพบพระอรหันต์ในฝันเป็นประจำ ด้วยเหตุที่อาจารย์ใหญ่กล่าวถึงการหลับเพื่อไปพบพระอรหันต์เป็นประจำ ทำให้บรรดาลูกศิษย์ผิดหวังในตัวท่าน

วันหนึ่งอากาศแสนจะเป็นใจให้พักผ่อน หลังจากกินข้าวอิ่มเรียบร้อยแล้ว เหล่าลูกศิษย์ก็ถือโอกาสงีบหลับเอาแรงหน่อย แต่พออาจารย์ใหญ่ผ่านมาก็ตวาดเข้าให้

“นี่พวกเธอมาแอบนอนหลับได้ยังไง เป็นนักศึกษาต้องกระตือรือร้นหน่อย ทำอย่างนี้ดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย”

“พวกผมไม่ได้นอนอย่างเดียวนะท่านอาจารย์ แต่พวกผมไปพบพระอรหันต์แต่ปางก่อนมา เช่นเดียวกับขงจื๊อไงครับ” ลูกศิษย์อธิบายให้รับทราบ

“แล้วที่ว่าไปพบพระอรหันต์มาน่ะ พวกเธอได้ข่าวอะไรมาบ้าง?” อาจารย์ใหญ่ซัก

ลูกศิษย์คนหนึ่งจึงกล่าวแถลงไขว่า

“พวกผมไปพบพระอรหันต์แต่ปางก่อนในแดนฝันมา และได้เรียนถามท่านว่า เห็นอาจารย์ใหญ่ของพวกผมไปที่นั่นทุกบ่ายหรือเปล่า แต่พระอรหันต์ทั้งหลายตอบว่า ไม่เคยเห็นหน้าคนที่พวกผมถามเลยแม้แต่ครั้งเดียว”

อาจารย์ใหญ่จึงได้แต่ทำหน้าตาจ๋องๆเพราะไม่รู้จะแก้คืนอย่างไร

เถรส่องบาตร

มีวัดอยู่แห่งหนึ่งเป็นศูนย์รวมสำหรับผู้ต้องการปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นแนวทางออกจากทุกข์และปัญหาที่ครอบงำจิตใจให้เศร้าหมอง พระสงฆ์ทุกรูปจะดำรงตนตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์อย่างเคร่งครัด

สำหรับการอบรมนั้น ก็จะมีพระครูบาอาจารย์เป็นแม่แบบในการเรียนรู้ในทุกเรื่อง เริ่มตั้งแต่ระเบียบวินัยเล็กน้อย จนกระทั่งถึงเรื่องการฝึกจิตใจให้มีความบริสุทธิ์ผ่องใส

วันหนึ่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสได้รับพระภิกษุผู้บวชใหม่เข้ามาอยู่ในการปกครอง ฝ่ายภิกษุหนุ่มผู้บวชใหม่นั้น ก็เพียรเฝ้าเรียนรู้พระธรรมวินัยจากหลวงพ่อด้วยความตั้งใจ

ในเช้าวันใหม่ของการฉันข้าว ภิกษุหนุ่มสังเกตเห็นหลวงพ่อหลังฉันเสร็จก็จะล้างบาตรและนำบาตรมานั่งส่องทุกวัน หลายวันเข้าภิกษุใหม่จึงเอาบาตรมานั่งส่องเช่นกัน เมื่อหลวงพ่อเห็นเช่นนั้นจึงถามว่า

“เธอกำลังทำอะไร ?”

“กระผมก็ทำตามอย่างหลวงพ่อนั่นแหละครับ”

“เธอทราบไหมว่าหลวงพ่อเอาบาตรมาส่องทำไม ?”

“ไม่ทราบครับ”

“เมื่อไม่ทราบแล้วทำไมถึงทำตามล่ะ?”

“ก็ผมคิดว่าสิ่งที่ทำตามนั้นถูกต้อง แล้วหลวงพ่อเอาบาตรมาส่องทำไมล่ะครับ?”

ภิกษุหนุ่มแจ้งให้หลวงพ่อรับทราบ และถามคืนด้วยความสงสัย

หลวงพ่อจึงเฉลยให้หายข้องใจว่า

“ที่หลวงพ่อเอาบาตรมาส่อง เพราะจะดูว่าบาตรมันรั่วหรือเปล่า ถ้ารั่วจะได้หาเทียนมาหยดเพื่ออุดรูที่รั่วเท่านั้นเอง ไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใดเลย”

พอภิกษุหนุ่มได้ฟังคำแถลงไขแล้ว ก็ให้รู้สึกอายยิ่งนักที่ตนเองทำตามโดยไม่รู้เหตุผลในเรื่องนั้น จึงได้แต่ตอบแบบอายๆ ว่า

“ก็ผมนึกว่าสิ่งที่หลวงพ่อทำนั้น เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามทุกอย่างนี่ครับ”

ฝ่ายหลวงพ่อเมื่อเห็นลูกศิษย์กล่าวแบบผู้ไม่รู้จริงๆ จึงกล่าวให้ข้อคิดและสำทับให้ลูกศิษย์รู้จักตระหนักในการศึกษาด้วยปัญญาว่า

“ทีหลังก็ให้สอบถามก่อนก็แล้วกัน จะได้ไม่นำไปปฏิบัติอย่างผิดๆ เดี๋ยวไปเป็นอาจารย์สอนคนอื่นมันจะยุ่ง”



อย่างนั้นเองรึ

มีอาจารย์เซ็นนามว่าฮะกูอิน ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงตนอย่างเรียบง่าย และอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ในพระธรรมวินัย บริเวณวัดที่ท่านอยู่นั้นมีร้านขายของชำร้านหนึ่ง ที่เจ้าของร้านมีลูกสาวที่สวยมากคนหนึ่ง อยู่ต่อมาปรากฏว่าลูกสาวเกิดตั้งครรภ์ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อของเด็กในท้อง

พ่อแม่ของหญิงสาวจึงคาดคั้นจากเธอ จนที่สุดเธอก็บอกว่าคนที่เป็นพ่อของเด็กคืออาจารย์ฮะกูอิน ทั้งสองจึงไปหาท่านแล้วด่าว่าท่านอย่างเสียๆ หายๆ แต่อาจารย์ฮะกูอินก็พูดเพียงสั้นๆ ว่า

“อย่างนั้นเองรึ”

พอหญิงสาวคลอดลูกออกมา ปรากฏว่าเด็กคนนั้นเป็นผู้ชาย สองตายายจึงหอบหิ้วมาให้อาจารย์ฮะกูอินเลี้ยง มาถึงตอนนี้ข่าวในทางที่เสียหายได้แพร่ไปถึงหูชาวบ้าน ศรัทธาที่มีต่ออาจารย์ฮะกูอินได้ล่มสลาย เพราะความเข้าใจที่พวกเขาตัดสินท่าน แต่อาจารย์ฮะกูอินก็ไม่ได้ว่ากระไร ยังคงบำเพ็ญภาวนาตามปกติ และมีงานเพิ่มขึ้นอีกอย่างคือเลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

หนึ่งปีผ่านไปเด็กน้อยเริ่มโตขึ้น หน้าตาน่ารักน่าชังพร้อมกับชื่อเสียงที่ย่อยยับป่นปี้ของอาจารย์ฮะกูอิน จนหญิงสาวผู้เป็นแม่ของเด็กทนเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ไหว จึงสารภาพแก่พ่อแม่ตัวเองว่า พ่อของเด็กที่แท้จริงนั้นคือหนุ่มขายปลาในตลาด ไม่ใช่อาจารย์ฮะกูอินแต่อย่างใด

สองตายายได้ฟังดังนั้นแล้ว ตกใจแทบช็อกที่ตัวเองมีแต่ใส่ร้ายป้ายสีอาจารย์ฮะกูอินเพียงฝ่ายเดียว จึงรีบไปขอโทษในความผิดที่ทั้งสองได้ทำลงไป และขอรับเด็กที่เป็นหลานไปเลี้ยงด้วย ฝ่ายอาจารย์ฮะกูอินก็ส่งเด็กให้พร้อมกล่าวเพียงถ้อยคำสั้นๆ เช่นเดิมว่า

“อย่างนั้นเองรึ”


เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน

มีอาจารย์เซ็นนามว่าโรกัน ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้อุทิศชีวิตเพื่อศึกษาเซ็นอย่างจริงจัง วันหนึ่งบรรดาญาติๆ มาบ่นเรื่องหลานชายของท่านโรกัน เกี่ยวกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ชอบเที่ยวผู้หญิง และไม่เคยสนใจใยดีต่อคำตักเตือนของใครให้ท่านฟัง และขอร้องท่านให้ช่วยตักเตือนเขาด้วย เพราะจะส่งผลดีต่อตัวเขาเองที่จะเป็นผู้สืบทอดมรดกในวันข้างหน้า

ท่านโรกันจึงรับปากว่าจะช่วยเหลือ ต่อมาไม่นานจึงเดินทางไปพบหลาน เมื่อลุงกับหลานที่ไม่ได้พบกันหลายปีมาเจอกัน หลานชายของท่านโรกันรู้สึกดีอกดีใจ ที่มีโอกาสได้พบลุง จึงออกปากชวนให้นอนค้างคืนด้วยกัน

พอตกกลางคืนท่านโรกันก็ได้เข้าห้องนั่งกรรมฐานตลอดคืน รุ่งเช้าก่อนจะจากกัน จึงเรียกหลานเข้ามาพบ แล้วกล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า

“หลานรัก ลุงนี้แก่แล้ว มือไม้สั่นไปหมด เจ้าช่วยผูกสายรองเท้าให้ลุงที”

เจ้าหลานชายดีใจยิ่งนักที่ได้ปรนนิบัติลุงของตัวเอง จึงทำให้ด้วยความเต็มใจ ฝ่ายท่านโรกันได้มองดูหลานแล้วก็ยิ้มให้กับเขา พร้อมกล่าวลาและให้ข้อคิดว่า

“ขอบใจนะหลานรัก หลานรู้ไหมว่านับวันลุงก็แก่ลงทุกวัน เรี่ยวแรงนับวันก็ยิ่งถดถอยลงเช่นกัน ถ้ายังไงก็ขอให้เจ้าดูแลตัวเองให้ดีนะ”

แล้วท่านโรกันผู้เป็นลุงก็บอกลาหลาน โดยที่ไม่ได้กล่าวเรื่องการทำตัวเสเพล การเที่ยวผู้หญิง หรือเรื่องที่เสียหายของเขาเลย แต่กลับเป็นอะไรที่น่าแปลกใจ หลานชายของท่านได้กลับใจอย่างไม่น่าเชื่อ เขาเลิกเที่ยวและงดเว้นในเรื่องที่ไม่ดีทุกอย่างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ลิงล้างหู

มีลิงที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เป็นหัวหน้าฝูงตัวหนึ่ง ได้อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์พร้อมกับบริวารจำนวนมาก ลิงพระโพธิสัตว์จะคอยพร่ำสอนบริวารให้รู้จักประพฤติตนให้อยู่ในกรอบแห่งความถูกต้องดีงามอยู่เสมอ

ครั้นต่อมามีนายพรานไปเจอเข้า จึงจับลิงพระโพธิสัตว์ไปถวายพระราชา นำความปลื้มปีติแก่พระราชาเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้นำลิงพระโพธิสัตว์ไปเลี้ยงในพระราชอุทยานและดูแลอย่างดี

ขณะที่อยู่ในพระราชอุทยานนั้น ลิงพระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญตนแตกต่างจากลิงทั่วไป ส่งผลให้พระราชาทรงเลื่อมใส อยู่ต่อมาพระองค์ทรงคิดได้ว่า ธรรมชาติของลิงก็ควรที่จะอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร จึงให้นำลิงพระโพธิสัตว์ไปปล่อยป่าตามเดิม

หลังรู้ข่าวว่าลิงพระโพธิสัตว์ได้รับอิสรภาพแล้ว เหล่าบริวารต่างดีอกดีใจ พากันมาต้อนรับหัวหน้าของตนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พอเห็นว่าหัวหน้าได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว จึงยิงคำถามอย่างผู้ใฝ่รู้ทันที

“ท่านหัวหน้า ในเมืองมนุษย์ผู้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เขามีการเป็นอยู่อย่างไรบ้าง พวกเราใคร่อยากรู้ ท่านโปรดเล่าให้ฟังหน่อย ?”

เมื่อลิงพระโพธิสัตว์พิจารณาว่าเรื่องที่พวกบริวารไต่ถาม ควรนำมาเป็นอุทาหรณ์ให้ลูกน้องได้เรียนรู้ จึงเล่าให้ฟังว่า

“พวกมนุษย์ทั้งหลายที่พวกเราเข้าใจว่าเขาเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น บางพวกที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงนั้นมักพูดกันว่าเงินของกู ทองของกูทั้งวันทั้งคืน มีแต่การชิงดีชิงเด่นกันอยู่ตลอดเวลา”

พอฟังเท่านั้น บรรดาลิงต่างร้องตะโกนพร้อมกันว่า

“ท่านหัวหน้าอย่าเล่าอีกเลย เราไม่อยากฟังเรื่องมนุษย์อีกแล้ว”

พอพูดจบ ลิงเหล่านั้นต่างก็กระโจนลงไปยังลำธารด้วยความเร็วสุดชีวิต ทุกตัวทำการล้างหูตัวเองด้วยน้ำในลำธารนั้น ต่างล้างแล้วล้างอีก เพื่อไม่ให้เรื่องราวของมนุษย์ฝังอยู่ในหูและความรู้สึกของตัวเอง

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา บริวารของลิงพระโพธิสัตว์ก็ไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องมนุษย์อีกเลย และเพื่อเป็นการตัดตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ พวกเขาจึงย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในป่าลึก โดยที่ไม่มีใครหาพวกเขาเจออีกเลย



หลอนตัวหลอนใจ

มีชายหนุ่มผู้หวาดกลัวต่อความมืดคนหนึ่ง เขาเดินทางไปติดต่อธุระกับเพื่อนที่หมู่บ้านใกล้เคียงกัน พอไปถึงและทำธุระเสร็จ เพื่อนจึงชวนคุยจนพลบค่ำ พอถึงเวลากลับบ้าน ชายหนุ่มรู้สึกหวาดวิตกที่จะเดินทางเพียงลำพัง เพราะความที่ตัวเองเป็นคนกลัวความมืดและกลัวผีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่ด้วยความที่มีธุระด่วนที่ต้องทำ เขาจึงข่มใจที่จะเดินทางกลับบ้านของตัวเองให้ได้ ฝ่ายเพื่อนของเขาก็ปลอบใจว่า

“คืนนี้เป็นคืนเดือนหงาย พระจันทร์ส่องสว่างตลอดทาง ไม่ต้องกลัวหรอก”

ชายหนุ่มจึงมีกำลังใจที่จะเดินกลับบ้านมากขึ้น แต่ทว่าคนที่มีความกลัวเป็นต้นทุนเดิมของชีวิต และมีอุปาทานแห่งความกลัวเกิดขึ้นในใจนั้น เมื่อเจอกับความหวาดกลัวอันเกิดขึ้นในใจ และต้องประสบกับภาวะอารมณ์ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ก็ย่อมเกิดความกลัวเช่นเคย

ใจก็จินตนาการภาพหลอนต่างๆ ขึ้นมาหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในขณะที่เดินทางกลับ เงาของเขาที่เดินตามนั่นแหละสร้างปัญหาให้เกิดความหวาดกลัว ทำให้ชายหนุ่มคิดว่า

“เงานั่นแหละคือผี”

เมื่อความรู้สึกบอกว่าเงาคือผีเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้ชายหนุ่มเข่าอ่อนและทรุดลงกับที่ในทันที เมื่อกายทรุดลงเงาเจ้ากรรมก็ค้อมตัวลงด้วย ทำให้เขาคิดว่า

“เงานี้คือผีเตี้ย”

ชายหนุ่มพยายามยืดกายให้ลุกขึ้นใหม่ และพยายามที่จะเดินให้ถึงบ้าน แต่ด้วยความที่เวลาเดินไป เงาก็เดินตามอยู่ตลอดเวลา เขาจึงตัดสินใจที่จะเดินหันหลังกลับบ้าน แต่ก็มีความ

รู้สึกหวาดผวาอยู่ตลอดเวลาเช่นเดิม จึงทำให้การเดินทางถึงบ้านช้ากว่าปกติ

ทว่าด้วยความกลัวในจิตใจเป็นทุนเดิม และร่างกายที่เหนื่อยล้าจนเกินไป ทำให้ชายหนุ่มล้มลงตายที่บ้านของตนในที่สุด



ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง

มีชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่งเกิดความรักชอบพอกัน หลังจากคบหาดูใจกันพอสมควรแล้ว ฝ่ายชายจึงได้ไปสู่ขอหญิงสาวแต่งงาน อยู่ต่อมาไม่นานฝ่ายหญิงก็ล้มป่วยลงอย่างหนัก อาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เธอรู้ตัวเองว่าคงไม่รอดแน่นอนจึงพูดกับสามีว่า

“น้องรักพี่สุดจะประมาณได้ ถ้าน้องเป็นอะไรไป ขอร้องพี่อย่างหนึ่งได้ไหม คือพี่อย่า

แต่งงานใหม่ ถ้าผิดสัญญาน้องจะมาหลอกหลอนไม่มีที่สิ้นสุด”

“พี่ให้สัญญาจ๊ะ” ฝ่ายชายรับคำ

หลังจากร่ำลากันด้วยความอาลัยรักสักครู่ ภรรยาก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ฝ่ายชายรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเมียรักได้ประมาณ ๓ เดือน อยู่ต่อมาเขาก็พบรักใหม่กับหญิงสาวคนหนึ่ง และด้วยความที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ต้องการสร้างชีวิตครอบครัว ชายหนุ่มจึงได้ขอหมั้นหญิงสาวไว้ก่อนตามธรรมเนียม

หลังจากวันหมั้นก็มีปรากฏการณ์อันน่าสะพึงกลัวเกิดขึ้น เพราะหลังจากที่เขาหมั้นกับหญิงสาวคนใหม่ ผีภรรยาก็ปรากฏตัวให้เขาเห็นทุกคืน เธอต่อว่าชายหนุ่มที่ไม่รักษาสัญญา และรู้สึกว่าเธอจะเป็นผีที่ฉลาดเอาการ ไม่ว่าชายหนุ่มและคู่หมั้นจะมีความลับอะไรต่อกัน เธอจะรู้และสามารถบรรยายได้อย่างละเอียด

เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนี้เข้า ทำให้ชายหนุ่มขวัญหนีดีฝ่อ ใจไม่อยู่กับตัวเพราะความกลัวต่อผีภรรยาเก่าของตน จนทำให้เพื่อนบ้านอดเป็นห่วงไม่ได้ จึงแนะนำให้เขาไปปรึกษาอาจารย์เซ็นรูปหนึ่งที่พำนักอยู่ใกล้หมู่บ้าน เขาจึงไปเล่าให้ท่านฟังโดยละเอียดและขอคำแนะนำ ฝ่ายอาจารย์เซ็นจึงกล่าวว่า

“ผีภรรยาของคุณช่างฉลาดจริงๆนะ รู้ไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าคุณจะทำอะไรหรือให้อะไรแก่คู่หมั้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเธอปรากฏตัวอีกให้พูดกับเธอว่า ถ้าเธอรู้ทุกอย่าง ให้ลองตอบคำถามสักข้อได้ไหม ถ้าเธอตอบได้ ให้บอกเธอว่าจะถอนหมั้นและอยู่เป็นโสดตลอดชีวิต”

“คำถามอะไรท่านอาจารย์ ?” ชายหนุ่มถามด้วยสงสัย

อาจารย์เซ็นจึงแนะนำว่า

“เจ้าจงหยิบถั่วเหลืองขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามผีภรรยาว่าในกำมือมีถั่วเหลืองกี่เม็ด ถ้าเธอตอบได้แสดงว่าเป็นผีจริง แต่ถ้าตอบไม่ได้แสดงว่าเป็นเพียงมโนภาพที่หลอนอยู่ในจิตสำนึกของคุณเท่านั้น เมื่อคำตอบปรากฏชัดเจนแล้ว ผีภรรยาเก่าจะไม่มารบกวนอีก”

หลังรับคำแนะนำจากอาจารย์เซ็นเรียบร้อยแล้ว ชายหนุ่มจึงเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง เพราะคืนนั้นผีภรรยาปรากฏตัวขึ้นอีกเช่นเคย ชายหนุ่มจึงได้กล่าวชมในความฉลาดของเธอ

“แน่นอน! และฉันรู้ด้วยว่าวันนี้พี่ไปพบพระมา” ผีภรรยากล่าว

ในขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น ชายหนุ่มได้กำเมล็ดถั่วเหลืองขึ้นมาหนึ่งกำมือ แล้วจึงถามผีภรรยาว่า

“ถ้าเธอรู้มากขนาดนี้ เธอตอบได้ไหมว่าในกำมือนี้มีถั่วเหลืองกี่เม็ด ?”

พอมาถึงคำถามนี้ ผีภรรยาผู้แสนฉลาดถึงกับอึ้งกิมกี่ ไม่สามารถตอบได้ ชายหนุ่มจึงเข้าใจว่าผีที่มาหลอกหลอนเขาทุกคืนนั้นคือความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีผีภรรยามาพบเขาอีกเลย



ความเชื่อ

มีชายกลุ่มหนึ่งเดินทางเพื่อไปเก็บของป่ามาเป็นอาหาร เส้นทางที่พวกเขาเดินนั้นเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น ท่อนไม้ ก้อนหิน ในขณะที่เดินมาเรื่อยๆ นั้น ชายที่เดินทิ้งห่างเพื่อนก็เจอวัตถุสิ่งหนึ่งเข้า เขากลัวว่าจะเป็นอันตรายแก่เพื่อนที่เดินมาทีหลัง จึงได้หักยอดไม้มาวางทับที่วัตถุนั้น เพื่อแสดงไว้เป็นสัญลักษณ์ให้เพื่อนรู้

หลังจากกลุ่มเพื่อนชายเดินมาถึง ต่างก็นึกว่าเพื่อนคนแรกบูชาวัตถุที่วางอยู่ที่พื้น จึงพากันหักยอดไม้และดอกไม้มาบูชาด้วยความเคารพเช่นกัน เมื่อมีคนหนึ่งเริ่มต้น ต่อมาก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อมีคนได้รับบาดเจ็บบริเวณนั้น ชาวบ้านก็ต่างโจษขานว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์รักษาอยู่ จึงมีมติให้สร้างเจดีย์ครอบที่ตรงนั้นไว้เพื่อสักการบูชา

หลังการสร้างเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านต่างพากันกราบไหว้บูชาด้วยความเคารพสุดจะหาใดปาน กระทั่งว่าใครเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นในชีวิต ก็จะกล่าวว่าเป็นเพราะไม่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน

พอชายหนุ่มได้ยินกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่นั้น เขาจึงได้ไปดูร่วมกับชาวบ้าน พอไปถึงสถานที่ดังกล่าว ชาวบ้านต่างกล่าวอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ให้เขาฟัง ชายหนุ่มได้แต่มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่เข้าใจ คิดอยากจะบอกชาวบ้านให้รู้ว่า

“ที่พวกเอ็งบูชานั้นมันกองขี้หมา เหตุที่ฉันเอาใบไม้มาปิดทับเพราะกลัวคนอื่นจะเหยียบต่างหากเล่า”

ทว่าเขาก็ได้แต่นิ่งคิดอยู่คนเดียว ไม่กล้าบอกสิ่งที่ทรงอิทธิพลทางความเชื่อนั้นว่าแท้จริงมันคืออะไร ชายหนุ่มจึงยอมที่จะเห็นชาวบ้านกราบไหว้บูชากองขี้หมาต่อไป โดยเก็บคำตอบไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียวตลอดมา



คนตาบอดกับดวงตะวัน

มีชายตาบอดคนหนึ่งไม่เคยเห็นดวงตะวันมาก่อน จึงไม่รู้ว่าดวงตะวันนั้นมีรูปร่างอย่างไร เขาเฝ้าสงสัยในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา อยู่ต่อมาวันหนึ่งจึงไปถามเพื่อนบ้านเพื่อให้หายข้องใจ ปรากฏว่ามีเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ได้เอากะละมังทองเหลืองมาเคาะให้ได้ยินแล้วบอกว่า

“นี่ไง! ดวงตะวันจะมีรูปร่างกลมๆ เหมือนกะละมังนี้แหละ”

“ความจริงเป็นอย่างนื้เอง บัดนี้เรารู้แล้ว” ชายตาบอดอุทานด้วยความดีใจ

หลายวันต่อมา เขาได้ยินเสียงระฆังที่มีเสียงคล้ายเสียงกะละมัง จึงถามคนที่อยู่ใกล้ๆว่า

“นั่นใช่ดวงตะวันหรือเปล่า?”

คนที่อยู่ข้าง ๆ ก็ตอบว่า

“ไม่ใช่ ดวงตะวันน่ะมีแสงสว่างเหมือนกับแสงเทียนไข”

ว่าแล้วก็เอาเทียนไขมาให้ชายตาบอดคลำ เขาก็อุทานด้วยเสียงอันดังเพราะความอัศจรรย์ใจ

“ความจริงเป็นอย่างนี้เอง บัดนี้เรารู้ชัดแล้ว”

หลายวันต่อมา ชายตาบอดได้คลำเจอขลุ่ยเลาหนึ่ง เขาเข้าใจว่าเป็นดวงตะวัน จึงถามคนที่อยู่บริเวณนั้นว่า

“นี่ใช่ดวงตะวันหรือเปล่า ?”

แต่ทุกครั้งที่เขาได้รับคำตอบ และได้สัมผัสกับสิ่งที่คิดว่าเป็นดวงตะวัน คำตอบนั้นกลับตรงกันข้ามจากสิ่งที่เคยได้รับทราบทุกครั้งไป จนแล้วจนรอดชายตาบอดก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า ดวงตะวันมีรูปร่างเป็นอย่างไร







คุณค่าของวาจา

มีอาจารย์กับลูกศิษย์กำลังสนทนาถึงเรื่องของการพูดว่า การพูดในรูปแบบใดจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษ ทั้งสองสนทนากันอย่างออกรส พอมาถึงช่วงที่อาจารย์เปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ถาม ลูกศิษย์ก็ปล่อยคำถามออกไปอย่างฉะฉานทันที

“ท่านอาจารย์ครับ มีคุณอันใดอยู่หรือไม่ในการเป็นคนช่างเจรจาพาที ?”

ฝ่ายอาจารย์ก็ให้การวิสัชชนาว่า

“พูดมากนั้นมีอะไรดี ดูกบในหนองน้ำซิ มันร้องตะเบ็งเสียงอยู่ทั้งวันทั้งคืนจนลิ้นแห้งปากห้อย ร้องจนคอแทบแตกอยู่แล้ว ยังไม่เห็นมีใครสนใจเลย แทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้ายต่อตัวเอง ใครที่ได้ยินเสียงกบต่างก็ถืออาวุธเพื่อหวังไปปองร้ายนำมาทำเป็นอาหารทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้ามกับเสียงของไก่ที่ขันแสดงบอกเวลาให้แก่คน แม้จะขันเพียงสองหรือสามครั้งเมื่อตอนใกล้รุ่ง แต่ทุกคนกลับเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ เพราะรู้ว่าเสียงขันของไก่ที่ดังขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าอีกไม่นานจะรุ่งสางแล้ว ดังนั้นเวลาจะพูดสิ่งใด จงพูดแต่พอดีและจงพูดก็ต่อเมื่อมีเป้าหมาย”



เช้าสี่ เย็นสาม

มีชายหนุ่มคนหนึ่งได้เลี้ยงลิงไว้จำนวนฝูงหนึ่ง ไม่ว่าจะไปไหนจะต้องมีลิงไปด้วยตลอด จนคนขนานนามว่าชายผู้มีลิงเป็นเพื่อน ทุกวันเขาจะให้อาหารลิงด้วยลูกเกาลัดตัวละ ๘ ลูก อยู่ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดี และจำนวนลิงก็เพิ่มขึ้น เขาไม่มีทุนในการจัดซื้อลูกเกาลัดเฉกเช่นอดีตที่ผ่านมา จึงเรียกประชุมฝูงลิงเพื่อตกลงในเรื่องการให้อาหาร

“ต่อไปนี้ข้าจะเปลี่ยนวิธีการให้ลูกเกาลัดแก่พวกเจ้า เพราะช่วงนี้ค่อนข้างลำบากในเรื่องการเงิน คือข้าจะให้ลูกเกาลัดแก่พวกเจ้าตอนเช้า ๓ ลูก และตอนเย็นอีก ๔ ลูก พวกเจ้าเห็นเป็นประการใด”

ปรากฏว่าบรรดาเจ้าจ๋อต่างแสดงอาการไม่พอใจ ร้องเสียงดังและวิ่งวุ่นไปทั่วบริเวณบ้าน เพื่อให้เจ้านายทราบว่าคำแถลงการณ์ไม่เป็นที่ถูกใจ ฝ่ายชายผู้โปรดปรานลิงเห็นสถานการณ์ไม่ดี ก็อยู่ในอาการสงบนิ่งเพื่อไตร่ตรองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสติ และคิดหาเทคนิคที่จะปรับความเห็นของลิงให้ได้ สักครู่ต่อมาเขาจึงแจ้งให้ทราบใหม่ว่า

“ถ้าอย่างนั้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ข้าจะให้ลูกเกาลัดแก่พวกเจ้าตอนเช้า ๔ ลูก และตอนเย็นอีก ๓ ลูก พวกเจ้าพอใจหรือยัง ?”

พวกลิงพอฟังว่าตอนเช้าให้ ๔ ลูก และตอนเย็นอีก ๓ ลูก ต่างกระโดดโลดเต้นด้วยความพอใจเป็นอย่างยิ่ง คิดว่าเจ้านายเพิ่มจำนวนลูกเกาลัดให้อีก ทั้งๆ ที่ลูกเกาลัดก็จำนวนเท่าเดิม





กับดักใจ

มีชายคนหนึ่งมีอาชีพล่าสัตว์ อยู่มาวันหนึ่งเขาจับลูกกวางได้ตัวหนึ่ง จึงนำกลับไปบ้านด้วย พอก้าวเข้าประตู สุนัขหลายตัวที่เลี้ยงไว้ก็กระดิกหางและน้ำลายไหลหยด อยากจะถือโอกาสนี้กินกวางนั้นเสีย

ผู้เป็นเจ้าของเห็นท่าไม่ดีก็รีบไล่ออกไป แต่เจ้าของบ้านก็คิดว่า จะให้คนมาคอยคุ้มกันลูกกวางอยู่อย่างนี้ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ควรให้ลูกกวางกับสุนัขคุ้นเคยกันไว้จะดีกว่า และให้สุนัขคอยคุ้มกันลูกกวางด้วยจึงจะเป็นการดี

ตั้งแต่นั้นมาเขาก็อุ้มลูกกวางเข้าไปใกล้ชิดกับสุนัขทุกวัน เพื่อให้สุนัขรู้ว่าเจ้าของรักลูกกวางมากเพียงใด จะกัดมันไม่ได้เป็นอันขาด ต่อมาก็ค่อยๆวางลูกกวางลงให้เล่นกับสุนัข ทำเช่นนี้เป็นเวลานาน สุนัขก็ไม่กล้ารังแกลูกกวาง ฝ่ายลูกกวางก็ลืมไปว่าตัวเองเป็นกวาง แถมยังเข้าใจว่าสุนัขเป็นเพื่อนที่ดีของตน

บางทีกวางก็ใช้ปากจูบตามตัวของสุนัข บางทีก็นอนลงใช้เท้าเขี่ยคางเล่น ส่วนเจ้าสุนัขนั้นถึงแม้จะเล่นกับลูกกวางอย่างสนิทสนม แต่ก็ยังคงคิดจะกินลูกกวางอยู่นั่นเอง แต่ก็กลัวเจ้าของจะทำร้ายจึงได้แต่เลียปากกลืนน้ำลายเท่านั้น

๓ ปีผ่านไป ลูกกวางโตขึ้นไม่น้อย วันหนึ่งมันเดินออกไปนอกบ้านตามลำพัง ขณะนั้นก็มองไปเห็นสุนัขหลายตัวของบ้านอื่นกำลังเดินไปมาอยู่บนถนน จึงเดินเข้าไปหาเพื่อจะเล่นด้วย เพราะคิดว่าสุนัขทุกตัวคงเป็นเพื่อนตนได้หมด

ฝ่ายเจ้าสุนัขทั้งหลายเห็นลูกกวางโง่เช่นนี้ ก็รู้สึกทั้งโกรธและขบขัน แล้วพวกมันก็พากันรุมกัดลูกกวางจนตาย กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ลูกกวางก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองตายเพราะเรื่องอะไร



เส้นผมบังภูเขา

มีชายสูงวัยคนหนึ่งกำลังนั่งสานพ้อม (ภาชนะทรงกลมขนาดใหญ่สานด้วยไม้ไผ่ ชาวบ้านใช้ใส่พันธุ์ข้าวเก็บไว้จนกว่าจะถึงฤดูทำนา) อยู่ใต้ต้นไม้ที่บ้านของตัวเอง โดยเข้าไปนั่งอยู่ข้างในพ้อมแล้วก็สานขึ้นรอบๆตัว เขาสานด้วยความเพลิน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ปรากฏว่าพ้อมได้สูงท่วมหัวแล้ว ชายแก่ที่ผ่านโลกมานานตกอยู่ในภาวะที่อับจนด้วยปัญญา ไม่รู้จะออกจากพ้อมได้ด้วยวิธีไหน แม้จะพยายามหาทางออกอย่างไรก็คิดไม่ออก

พระอาทิตย์สูงขึ้นจวนถึงเที่ยงวัน ท้องไส้เริ่มปั่นป่วนเพราะความหิว แต่ชายชราก็ยังอับจนหนทางที่จะออกจากพ้อมอยู่ดี เผอิญเหลือบไปเห็นเด็ก ๒ – ๓ คนกำลังเล่นกันอยู่บริเวณนั้น เด็กเหล่านั้นก็คือหลานของแกเอง แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าเด็กเหล่านั้นจะช่วยตนได้อย่างไร เพราะขนาดตัวเองเป็นผู้ใหญ่แท้ๆ ก็ยังคิดไม่ออก แต่เพื่อเป็นการเสี่ยงดวงจึงได้ตะโกนพูดกับเด็กเหล่านั้น

“นี่ไอ้หนู ลองทายซิว่าตาจะออกจากพ้อมได้อย่างไร ถ้าใครทายถูกจะให้ ๑ บาท”

เด็กทุกคนหันไปมองชายแก่ด้วยความประหลาดใจ เขาอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงถามปัญหาง่ายๆ เช่นนั้น เด็กคนหนึ่งจึงตอบด้วยความมั่นใจเต็มร้อยว่า

“ไม่เห็นจะยากอะไรเลยครับ คุณตาก็ล้มพ้อมลงนอนกับพื้นก่อน เสร็จแล้วก็คลานออกมา เท่านี้ก็สิ้นเรื่องแล้วครับ”

ชายแก่ได้ยินแล้วก็หัวเราะหึ ๆ ด้วยความเวทนาตัวเอง เพราะคำตอบของเด็กน้อยช่างง่ายดายและถูกต้องจนไม่น่าเชื่อ แต่เพื่อไว้เชิงคนแก่เขาจึงตอบแบบไว้ลายหน่อย

“คำตอบของเอ็งถูกต้อง ตรงกับที่ตาคิดไว้ไม่มีผิด เอ้า ! เอารางวัลไปบาทหนึ่ง”



ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นคือครูสอนใจ

มีชายคนหนึ่งขับรถไปทำงานแต่เช้าตรู่ อยู่มาวันหนึ่งเขาสังเกตเห็นหญิงแก่คนหนึ่ง ในมือถือเทียนและกำลังหาอะไรบางอย่างอยู่ในพงหญ้าข้างถนน ด้วยความสงสัย เขาจึงหยุดรถแล้วเดินตรงเข้าไปถาม

“ยายกำลังหาอะไร ?”

“ยายกำลังหาเหรียญสลึงที่ทำหลุดมือหล่นลงไปในพงหญ้านี้ ยายหามาเป็นชั่วโมงแล้ว หาเท่าไรก็ไม่เจอ” หญิงชราตอบพร้อมแสดงอาการละเหี่ยใจ

ด้วยความสงสารจับใจ ชายหนุ่มจึงควักแบงค์ ๕๐ ออกมา แล้วยื่นให้ยายพร้อมกล่าวสำทับว่า

“เอาเงิน ๕๐ บาทนี้ไปก็แล้วกันนะยาย เหรียญสลึงนั้นทิ้งมันไปเสียเถอะ”

หญิงชราขอบใจเขายกใหญ่ แล้วดับเทียนรีบเดินหนีไปทันที ต่อมาตอนประมาณ ๓ ทุ่ม ชายหนุ่มก็ขับรถจะกลับบ้าน แต่เขาก็ต้องแปลกใจ เมื่อเห็นหญิงชราคนหนึ่งกำลังส่องไฟเทียนหาอะไรอยู่ข้างถนน

ด้วยความสงสัยเขาจึงเข้าไปดูใกล้ๆ ปรากฏว่าเป็นยายคนเดิมที่เขาเคยให้เงินเมื่อตอนเช้า โดยกำลังทำทีเป็นหาอะไรบางอย่าง ชายหนุ่มก็ลองถามเหมือนเดิม จึงรู้ว่ายายคนนี้เป็นนักโกหกเพื่อที่จะเอาเงินจากคนที่ผ่านไปมา

พอยายรู้ว่าคนที่มาถามเป็นชายที่เคยให้เงินเมื่อตอนเช้า แกจึงรีบเดินหนีไปอย่างรวดเร็ว กว่าที่ชายหนุ่มจะรู้ว่าถูกหลอก หญิงชราก็หนีไปได้ไกลแล้ว





“พอใจ” กำไรจากการเริ่มต้น

มีช่างแกะสลักหินคนหนึ่งเป็นคนที่ไม่พอใจในตัวเอง อยากเป็นโน้นเป็นนี่อยู่ร่ำไป วันหนึ่งเขาเดินผ่านบ้านเศรษฐีผู้มั่งคั่ง เห็นภายในบ้านของเศรษฐีมีสมบัติมากมาย และมีแขกคนสำคัญมาเยี่ยมอยู่บ่อยๆ เขาคิดในใจว่า

“เศรษฐีคนนี้ช่างมีอำนาจและบริวารเยอะจริงๆ ทำยังไงหนอเราถึงจะเป็นอย่างเขาได้”

เหมือนเทวดาดลใจหรือสวรรค์แกล้ง ทำให้ช่างแกะสลักมีมนต์วิเศษเกิดขึ้นในขณะนั้นทันที สามารถเสกตัวเองให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา วันหนึ่งเขาเห็นข้าราชการคนหนึ่งที่มีบริวารล้อมรอบ ทุกคนต่างก้มหัวให้กับข้าราชการคนนั้น ช่างแกะสลักหินจึงเนรมิตตัวเองให้เป็นข้าราชการ

แต่พอเดินไปสักระยะหนึ่ง เขาก็เห็นว่าคนที่เป็นข้าราชการนั้น เป็นที่รังเกียจของคนที่อยู่รอบๆ ข้าง ขณะที่กำลังชื่นชมกับความเป็นข้าราชการอยู่นั้น เขามองขึ้นไปยังดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงลงมาสู่โลกด้วยพลังที่ร้อนแรงและน่าเกรงขาม ก็ปรารถนาที่จะเป็นดวงอาทิตย์แทน จึงเนรมิตตัวเองให้เป็นดวงอาทิตย์ในบัดดล

ทว่าขณะกำลังเชยชมความทรงพลังแห่งแสงอาทิตย์อยู่นั้น ก็มีกลุ่มเมฆลอยมาบดบัง ทำให้อยากเป็นเมฆขึ้นมา พร้อมกับเนรมิตตัวเองเป็นก้อนเมฆแทน

พอเนรมิตตัวเองเป็นก้อนเมฆสมใจ และล่องลอยไปตามที่ใจต้องการ สักครู่ก็มีลมวูบพัดมาสลายก้อนเมฆนั้น ความอยากจึงเปลี่ยนไปอยู่ที่ลม จึงเนรมิตตัวเองให้เป็นลมที่พัดพาทุกสิ่งอย่างตามที่ใจต้องการ

ขณะที่เป็นลมก็ได้เที่ยวไปพัดสิ่งต่างๆ ตามความพอใจ แต่พอพัดไปถูกสิ่งที่เรียกว่าก้อนหินเข้ากลับมีอาการเฉยๆ ไม่สะทกสะท้านแต่อย่างใด ทำให้อยากเป็นก้อนหิน จึงเนรมิตตัวเองให้เป็นก้อนหินในทันทีทันใด

ด้วยความรู้สึกหลงตัวเองในความแข็งแกร่งดั่งหินผา เขาหลงใหลได้ปลื้มกับความเป็นก้อนหินอยู่สักพัก ก็มีบางอย่างตอกลงมาที่หินอย่างแรง เขาคิดว่าอะไรที่มีพลังขนาดที่จะทำให้ก้อนหินสั่นสะเทือนได้ พอเห็นเข้าจังๆ ก็รู้ทันทีว่าสิ่งนั้นคือ “ช่างแกะสลักหิน”

“สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา” ช่างแกะสลักหินกลับคืนสติได้ และปรารถนาที่จะกลับมาเป็นช่างแกะสลักหินตามเดิม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เขาก็ไม่ขวนขวายที่จะเป็นอะไรอีกเลย นอกจากความเป็นตัวของตัวเอง









ชีวิตชั่วคราว

มีเศรษฐีชราผู้ตระหนี่ถี่เหนียวอยู่คนหนึ่ง ยึดอาชีพปล่อยเงินให้กู้โดยคิดดอกเบี้ยสูง หน้าที่หลักของเขานอกจากการปล่อยเงินกู้แล้ว ก็คือการออกนอกบ้านเพื่อตระเวนทวงนี้เกือบทุกวัน ต่อมาร่างกายเริ่มอ่อนแอลง ไม่สามารถเดินได้ทั้งวันเช่นแต่ก่อน จึงตัดสินใจซื้อลามาตัวหนึ่ง

แต่เขาก็ห่วงลาเป็นอย่างมาก เกรงว่าถ้าใช้งานหนัก ลาจะเหนื่อยและจะสิ้นใจตายในเร็ววัน ดังนั้นหากวันใดที่ไม่เหนื่อยมาก เขาก็จะเดินจูงลาไปเป็นเพื่อน โดยพยายามไม่ใช้แรงงานลาจนเกินไป

วันหนึ่งอากาศร้อนอบอ้าวกว่าทุกวันที่ผ่านมา และเศรษฐีต้องออกเดินทางไปทวงหนี้ในที่ไกลกว่าปกติ จึงนำลาไปด้วยเช่นทุกครั้ง ขณะที่เดินทางก็ขึ้นขี่ลาบ้าง พอเกรงว่าลาจะเหนื่อยก็เดินจูงบ้าง และด้วยความที่เศรษฐีเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ลาจึงไม่ค่อยถูกใช้งานเต็มที่ จึงทำให้กำลังของลาถดถอยลง พอเหนื่อยก็พาลหยุดเดินเอาดื้อๆ

ฝ่ายเศรษฐีด้วยความกลัวว่าลาจะตาย จึงถอดเอาอานและบังเหียนออกจากตัวลามาแบกไว้ หมายจะให้ลาได้พักบ้าง เพราะคิดว่าอาการของลาคงจะดีขึ้น แต่ฝ่ายเจ้าลากลับคิดว่าเศรษฐีปล่อยให้กลับบ้าน จึงวิ่งจากไปด้วยความเร็ว แม้เศรษฐีจะร้องเรียกอย่างไรก็ไม่ยอมหันกลับมา

ด้วยความเสียดายลา เศรษฐีก็ฝืนทนแบกอานและบังเหียนขึ้นบ่า แล้วออกวิ่งตามลาอย่างสุดกำลังที่มี ฝ่ายเศรษฐีผู้วิ่งตามลาพอเห็นว่าลายังกลับบ้านอยู่ก็อุ่นใจ จึงเข้าบ้านพร้อมกับอานและบังเหียน ทุกอย่างที่เป็นสมบัติของเศรษฐี รวมทั้งลา อาน และบังเหียนยังอยู่ครบ

แต่ด้วยความที่อายุมากแล้ว และเหนื่อยล้าเพราะการวิ่งตามลาจนหายใจไม่ทัน จึงทำให้เศรษฐีสิ้นใจตายท่ามกลางมรดกทั้งหมดในบ้านที่สั่งสมมาตลอดชีวิต โดยไม่มีโอกาสใช้ให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด



ไม่ทำงาน อย่ากินข้าว

มีอาจารย์เซ็นผู้ชรานามว่ายาจุโก แม้จะมีอายุมากตั้ง ๘๐ ปีแต่ก็ยังช่วยลูกศิษย์ทำงานอย่างแข็งขันทุกวัน เช่น ทำสวน กวาดลานวัด ตลอดถึงการตกแต่งต้นไม้ตามสถานที่ต่างๆ เหล่าสานุศิษย์เห็นอาจารย์เฒ่าทำงานหนักเช่นนั้นจึงเกิดความสงสาร ต่างก็เข้าไปขอร้องให้ท่านพัก แต่ท่านก็ไม่ยอมพักตามคำขอร้อง

พวกลูกศิษย์จึงได้นำอุปกรณ์ของอาจารย์ไปซ่อนไว้ เพื่อหวังที่จะให้อาจารย์ของตนได้พักผ่อน ทว่าเมื่อไม่มีเครื่องมือและไม่ได้ทำงานอย่างเช่นทุกวัน อาจารย์ยาจุโกก็ไม่ยอมฉันข้าวเป็นเวลาถึงสามวัน เรื่องนี้นำความหนักใจมายังบรรดาลูกศิษย์เป็นอย่างยิ่ง พวกเขาจึงปรึกษากันว่า

“ท่านอาจารย์คงโกรธที่พวกเราเอาเครื่องมือทำงานของท่านไปซ่อนไว้ ถ้ายังไงพวกเรานำไปคืนท่านเถอะนะ ท่านอาจารย์จะได้กลับมาฉันข้าวเหมือนเดิม"

ว่าดังนั้นแล้ว เหล่าสานุศิษย์ก็ได้นำเครื่องมือทั้งหมดไปคืนอาจารย์ วันนั้นอาจารย์ยาจุโกก็ได้ร่วมกับลูกศิษย์ทำงานเหมือนเดิม และเริ่มฉันอาหารตามที่ลูกศิษย์หวังไว้ พอตกค่ำท่านได้เรียกประชุมลูกศิษย์และกล่าวให้โอวาทด้วยประโยคสั้นๆ ว่า

“ถ้าวันไหนไม่ทำงาน ก็ไม่สมควรที่จะกินข้าว”



เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก

มีอาจารย์เซ็นนามว่าเซ็นไก ท่านมีลูกศิษย์จำนวนมาก ในจำนวนนั้นก็มีนิสัยแตกต่างกันออกไป คนดีก็ดีใจหาย คนดื้อก็ดื้อจนน่าหนักใจแทนท่าน และในจำนวนทั้งหมด ก็มีลูกศิษย์คนหนึ่งชอบกระโดดกำแพงหนีเที่ยวตอนกลางคืนเป็นประจำ วิธีการหนีเที่ยวของเขาก็คือใช้เก้าอี้ไปวางที่ข้างกำแพงแล้วก็เหยียบข้ามไป

คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์เซ็นไกได้ไปตรวจที่โรงนอนของนักศึกษา พบว่านักศึกษาที่ชอบหนีเที่ยวหายไปเช่นทุกวันที่ผ่านมา อาจารย์เซ็นไกจึงไปดักรอที่เขาเอาเก้าอี้ไปวางไว้ ต่อจากนั้นก็นำเก้าอี้ออก แล้วท่านก็ไปยืนแทนที่

พอได้เวลากลับจากการท่องเที่ยว หนุ่มเจ้าสำราญก็ปีนข้ามกำแพงที่เดิม โดยปีนข้ามมาแล้วเอาเท้าหวังจะเหยียบเก้าอี้ลงมา แต่ครั้งนี้เขาเหยียบลงที่หัวของอาจารย์เซ็นไกอย่างจัง และกระโดดลงมายืนที่พื้นอย่างปลอดภัย

ทันทีที่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองเหยียบนั้นคืออะไร เขาก็ตัวสั่นงันงกด้วยความตกใจระคนด้วยความละอาย แต่แทนที่อาจารย์เซ็นไกจะตำหนิกลับกล่าวด้วยความเมตตาว่า

“ตอนเช้ามืดอย่างนี้ จะไปไหนมาไหนก็ต้องดูแลตัวเองหน่อยนะ อากาศค่อยข้างหนาว เดี๋ยวจะเป็นหวัดได้”

แล้วท่านก็เดินไปดูสถานที่อื่นตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา หนุ่มช่างสำราญก็ไม่เคยหนีเที่ยวตอนกลางคืนอีกเลย



ใต้ร่มเงาแห่งความร่มเย็น

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรัหมรังสี) เป็นผู้ที่ชื่อว่าได้ใช้เมตตาธรรมเพื่อการรังสรรค์สังคมให้งดงามเป็นอย่างยิ่ง โดยท่านอาศัยความเมตตาธรรมเป็นแกนกลาง ในการพัฒนาบุคคลรอบข้างให้มีความสงบร่มเย็นเป็นแนวทางเสมอมา และด้วยอานุภาพแห่งความเมตตาที่ท่านมี จึงช่วยให้คนรุ่นต่างๆ ได้เรียนรู้ปฏิปทาอันงดงามของท่านตราบจนปัจจุบัน

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุอันไม่งามในความเป็นพระลูกวัดของท่าน เพราะถูกความโกรธเข้าครอบงำ มีพระคู่หนึ่งกำลังตั้งท่าจะทะเลาะกันถึงขั้นจะวางมวย ท่านที่ถูกท้าก็แสดงเจตนาให้ฝ่ายตรงข้ามรับทราบ

“เราไม่เคยกลัวท่านหรอก”

“เราก็ไม่เคยกลัวเหมือนกัน” คู่กรณีร้องตอบโต้

เสียงที่ทั้งคู่กำลังเปล่งประกายแห่งความโกรธดังไปถึงกุฏิที่ท่านอยู่ ท่านสมเด็จได้รับฟังถึงความเก่งที่ทั้งสองเถียงกัน อันเป็นการไม่เหมาะในความเป็นพระ จึงได้คิดที่จะอบรมพระทั้งสองรูปด้วยวิธีการของผู้มีเมตตาธรรม

ท่านสมเด็จได้จัดดอกไม้ธูปและเทียนใส่พาน แล้วเข้าไปท่ามกลางระหว่างพระทั้งสอง หลังจากนั้นก็ประนมมือกล่าวอ้อนวอนฝากเนื้อฝากตัว

“พ่อเจ้าประคุณ! พ่อช่วยคุ้มครองฉันด้วยเถิด ฉันขอฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นประจักษ์แจ้งแล้วว่า พ่อคุณทั้งสองเก่งเหลือเกิน เก่งแท้ๆ พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ด้วย”

พระทั้งสองพอเห็นท่านสมเด็จแสดงอาการอย่างนั้น ก็ถึงกลับวงแตกด้วยความละอาย จึงเลิกทะเลาะกันทันที ต่างรีบกลับเข้ากุฏิแล้วสงบสติอารมณ์ พิจารณาการกระทำของตัวเอง แล้วทั้งสองก็มากราบขอโทษท่าน

ฝ่ายท่านสมเด็จก็คุกเข่ากราบพระทั้งสองคืนบ้าง จนทำให้พระทั้งคู่รู้สึกละอายใจยิ่งนัก ต่างกราบกันไปมาอยู่อย่างนั้นจนเหนื่อย จึงได้เลิกราจากกัน พร้อมกับทั้งคู่กล่าวปฏิญาณตนว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีกต่อไป



อีกครั้งหนึ่งที่แสดงถึงความเมตตาของท่านสมเด็จก็คือ เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๔ นิมนต์ท่านไปในงานราชพิธี แต่ด้วยความเป็นพระที่เรียบง่าย สมเด็จจะนุ่งห่มผ้าจีวรที่คร่ำคร่า ทางพระราชวังจึงนำไตรจีวรแพรเนื้อดีไปถวายก่อนวันงาน พร้อมกำชับท่านว่าให้ครองผ้าไตรชุดนี้เท่านั้น

ครั้นถึงวันงาน เวลาก็จวนใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ก็ยังไร้วี่แววของสมเด็จ ในหลวงจึงตรัสเรียกมหาดเล็กให้ไปตามโดยด่วน พอมหาดเล็กไปถึงกุฏิก็พบว่าสมเด็จนั่งอยู่ข้างๆ ผ้าไตรจีวรแพร โดยมีลูกสุนัขนอนทับอยู่ ท่านจึงกล่าวแก่มหาดเล็กว่า

“อย่าปลุกลูกสุนัขนะ เกรงใจเขา ปล่อยเขานอนหลับให้สบายเถอะ”

เมื่อสมเด็จไม่ปรารถนาที่จะปลุกลูกสุนัขให้ตื่น มหาดเล็กจึงจำต้องนิมนต์ให้ท่านครองจีวรคร่ำคร่ามาร่วมพิธีตามเดิม เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงไม่พอพระทัย แต่พอทรงทราบความจริงถึงสาเหตุที่มาช้าและครองผ้าจีวรเก่าแล้ว ก็ทรงให้ศรัทธาในสมเด็จเป็นทวีคูณ





ที่สุดของที่สุด

ในครั้งที่อีสปอยู่เป็นข้ารับใช้ซางตุสอยู่นั้น เขาชื่อว่าเป็นที่รักของเจ้านายเป็นยิ่งนัก เพราะความที่เขาเป็นผู้บำเพ็ญตนให้มีประโยชน์ และเป็นผู้ให้ความรู้แก่ผู้อื่นอยู่เรื่อยมา

อีสปถือว่าเป็นผู้ที่ทำให้เจ้านายโปรดปรานและต้องปวดหัวอยู่บ่อยๆ เพราะความฉลาดเกินตัวของเขา มีครั้งหนึ่งที่แสดงความเป็นผู้รู้ของอีสปให้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชน ก็คือวันที่เจ้านายของเขาจัดงานเลี้ยง

ซางตุสผู้เป็นเจ้านายจะจัดงานเลี้ยงแก่เพื่อนๆ จึงสั่งอีสปว่า “ให้ไปซื้ออาหารที่ดีที่สุดในตลาด” เพื่อมาทำเลี้ยงแขกในวันงาน หลังจากรับรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว อีสปก็รีบไปซื้อสิ่งของที่เจ้านายสั่งมาจัดเตรียมไว้ทันที

พอถึงวันงานเขาก็จัดการทำอาหารแต่เช้า เพื่อรอแขกที่จะมาร่วมงาน ครั้นได้เวลารับประทานอาหาร เจ้านายจึงสั่งให้อีสปนำอาหารที่ดีที่สุดมาให้แขกรับประทาน

อาหารจานแรกก็คือ “ลิ้น”

อาหารจานที่สองก็เป็น “ลิ้น”

ของหวานก็เป็น “ลิ้น” อีกเช่นเคย

ช่วงที่อีสปนำอาหารจานแรกมาเสิร์ฟนั้น แขกต่างชมว่ารสชาติอร่อยมาก แต่พอติดตามมาด้วยลิ้นอีก ก็รู้สึกว่าความอร่อยเริ่มหายไป หนำซ้ำของหวานก็เป็นลิ้นอีก แทนที่จะรู้สึกอร่อยกลับเป็นความรู้สึกสะอิดสะเอียนแทน เมื่อซางตุสเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น จึงเรียกอีสปมาสอบถามให้รู้เรื่องทันที

“ข้าสั่งให้ซื้ออาหารที่ดีที่สุดมามิใช่หรือ เหตุใดเจ้าจึงซื้อมาแต่ลิ้นเพียงอย่างเดียวล่ะ ?”

อีสปจึงตอบเจ้านายว่า

“เจ้านายคิดว่ายังจะมีอะไรดีไปกว่าลิ้นอีกหรือขอรับ เพราะบ้านเมืองที่เราอยู่อาศัยก็สร้างด้วยลิ้น การรักษาความสงบก็ต้องใช้ลิ้น ลิ้นยังมีหน้าที่สอน ชักชวน และควบคุมสภาผู้แทนราษฎร และด้วยลิ้นที่เรามีอยู่นี้แหละ ทำให้เราได้ทำหน้าที่อันสำคัญคือการได้กล่าวถึงพระศาสดา”

พอซางตุสได้ฟังดังนั้นก็คิดที่จะจับผิดอีสปให้ได้ จึงออกคำสั่งให้เขาไปซื้อ“สิ่งที่เลวที่สุด”เพื่อมาเลี้ยงแขกชุดเดิม พอรุ่งขึ้นอีสปก็นำอาหารคือ“ลิ้น”มาเสิร์ฟตามเดิม จึงทำให้เจ้านายต้องการทราบคำตอบของเขา อีสปจึงอธิบายว่า

“ลิ้นเป็นสิ่งเลวที่สุดในบรรดาสิ่งเลวร้ายทั้งหลายในโลก ลิ้นเป็นต้นเหตุของการถกเถียง ต้นเหตุของการฟ้องร้องกันในศาล ต้นเหตุทะเลาะวิวาทและสงคราม ลิ้นสรรเสริญพระศาสดาได้ แต่ขณะเดียวกันลิ้นก็สามารถกล่าววาจาอันชั่วร้าย แสดงความไม่ไว้วางใจในอานุภาพของพระองค์ได้เช่นกัน”

หนึ่งมิตรชิดใกล้

มหาปราชญ์นามว่าเม่งจื้อ ชื่อว่าเป็นคนทั้งหลายให้การยอมรับในความเป็นปราชญ์แต่ถ้า

เม่งจื้อไม่มีกัลยาณมิตรคือแม่ คอยเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ชีวิต มหาปราชญ์นามกระเดื่องอาจเป็นเพียงบุรุษคนหนึ่ง ที่ซ่อนเร้นเงาอยู่ในมุมหนึ่งของโลกเท่านั้นก็เป็นได้

แต่เพราะความที่เม่งจื้อมีมิตรดีคือแม่ เขาจึงก้าวเข้ามาสู่ตำนานของผู้รู้ตราบจนปัจจุบัน และความที่เขาเป็นคนเมืองเดียวกันกับท่านขงจื้อ จึงทำให้เกิดแรงดลใจต่อกันเรื่อยมา แต่เหตุผลที่ส่งเสริมให้ เม่งจื้อเป็นนักปราชญ์ผู้โด่งดังได้อย่างแท้จริงก็คือ“นางเจียงสี” ผู้เป็นแม่ของเขานั่นเอง

นางเจียงสีเป็นผู้หญิงที่ฉลาด เป็นคนที่มีอารมณ์ดีอยู่เสมอ ไม่หุนหันพลันแล่นทางอารมณ์ จะเป็นคนเสมอต้นเสมอปลายในทุกเรื่อง และนางให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเม่งจื้อเป็นอย่างมาก

แต่ก่อนบ้านของนางอยู่ใกล้ตลาดสด ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนและคำพูดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เม่งจื้อเลียนแบบคนเหล่านั้นอยู่เรื่อยๆ นางจึงตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่ใกล้โรงเรียน นางจะคอยชี้แนะให้ลูกฟังเสมอว่า

“โตมาขอให้ลูกเรียนหนังสือ จะได้มีความรู้และเก่งเหมือนคนที่อยู่ในโรงเรียนนั้น”

พอครบกำหนดอายุ นางเจียงสีจึงส่งเม่งจื้อเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว แต่ขึ้นชื่อว่าคนฉลาดบางครั้งก็แฝงมาด้วยความขี้เกียจ เม่งจื้อก็เช่นกัน เขาเป็นเด็กที่หัวดีมาก มีความจำดีเป็นเลิศ แต่บางครั้งก็ออกนอกลู่นอกทางอยู่เรื่อย

มีอยู่วันหนึ่ง เขาแอบกลับบ้านก่อนเวลาโรงเรียนเลิก ขณะนั้นนางเจียงสีกำลังทอผ้าอยู่พอดี รู้ว่าวันนี้ลูกหนีเรียน แต่ด้วยความเป็นคนฉลาด ก็มิได้ดุด่าลูกแต่อย่างใด เธอได้หยิบกรรไกรขึ้นมา แล้วตัดด้ายที่กำลังทออยู่นั้นออกจากกัน ทำให้เม่งจื้อตกใจและประหลาดใจระคนกัน จึงถามแม่ด้วยความสงสัย

“ทำไมแม่ทำอย่างนั้น ผ้าที่ทอยังไม่เสร็จเลย?”

“ก็เหมือนกับลูกไปเรียนหนังสือนั่นแหละ โรงเรียนยังไม่เลิกเลย ทำไมลูกหนีกลับมาก่อน หากลูกทำอย่างนี้ก็ไม่มีวิชาติดตัวเหมือนผ้าที่ทอไม่เสร็จนี่แหละ” นางเจียงสีกล่าวชี้แจง

คำพูดของแม่ทำให้เม่งจื้อรู้สึกผิด เขาเข้าไปกอดแม่และกล่าวขอโทษต่อการกระทำของตนเองและให้สัญญากับแม่ว่าจะกลับตัวใหม่

“ยกโทษให้หนูด้วยนะแม่ ต่อไปนี้หนูจะไม่เลิกเรียนก่อนเวลาอีกแล้ว หนูจะตั้งใจเรียน และจะไม่ทำให้แม่เสียใจเป็นอันขาด”

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา เม่งจื้อก็ไม่เคยขาดเรียนอีกเลย ต่อมาเขาก็ได้ศึกษากับอาจารย์อีกหลายท่าน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาปราชญ์แห่งเมืองจีนอีกท่านหนึ่ง ชื่อเสียงของเขาได้ขจรขจายไปทั่วโลก เพื่อให้คนได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดและสิ่งดีงามที่มีตราบจนปัจจุบัน

แพ้เพื่อชนะ

ขงจื้อผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นมหาปราชญ์ของโลก ได้เดินผ่านเด็กน้อยกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังถกเถียงปัญหากัน เขาจึงได้แวะเข้าไปถามด้วยความหวังดี

“นี่! พ่อหนูน้อยทั้งหลาย กำลังถกเถียงปัญหาอะไรกันบอกลุงซิ เดี๋ยวลุงจะตัดสินให้”

“ลุงเป็นใคร จึงคิดว่าจะมาตัดสินให้พวกหนูได้ ปัญหามันยากนะลุง” เด็กคนหนึ่งเอ่ยถามมหาปราชญ์

“ลุงชื่อว่าขงจื้อที่ใครๆต่างก็ชมว่าลุงเป็นคนฉลาดไงล่ะ บอกลุงมาเลย จะช่วยเฉลยให้”

กลุ่มเด็กๆที่กำลังถกเถียงปัญหากันอย่างเมามัน จึงเล่าให้ลุงขงจื้อฟังว่า

“พวกหนูเถียงกันเรื่องตะวันตอนเช้าอยู่ใกล้แต่ทำไมไม่ร้อน ทำไมตอนเที่ยงอยู่ไกลกลับร้อน ก็เลยเถียงกันว่าในตอนเช้าน่ะ ตะวันไม่ได้อยู่ใกล้หรอก ถ้าอยู่ใกล้มันก็ต้องร้อน ตอนเที่ยงสิอยู่ใกล้จริง ถึงเรามองว่ามันอยู่ไกล แต่ความจริงมันอยู่ใกล้ตัวเรา ถ้าไม่งั้นมันก็ไม่ร้อนขนาดนี้หรอก พวกหนูเถียงกันเรื่องนี้ แล้วลุงจะตอบว่าใครถูกใครผิดดี”

พอเจอปัญหาโลกแตกแบบนี้ ขงจื้อถึงกับอึ้งกิมกี่ตอบไม่ถูกเอาเหมือนกัน พวกเด็กเห็นลุงขงจื้อยืนนิ่งจึงหัวเราะร่า

“ไหนลุงบอกว่าเป็นคนฉลาดไง แต่ทำไมปัญหาแค่นี้ไม่เห็นตอบได้เลย ใครหว่าที่บอกว่าลุงฉลาด”

สุดท้ายขงจื้อจึงต้องถอยร่น และกล่าวเชิงยอมรับว่าปัญหาที่เด็กถามนั้น เป็นคำถามที่ยากจะตอบให้กระจ่างชัดได้ในเวลาอันสั้น จึงยอมแพ้ที่จะไม่ตอบปัญหานั้น และยอมถอยออกจากกลุ่มเด็กๆ อย่างเงียบๆ



ตะแกรงร่อนความคิด

มีชายหนุ่มคนหนึ่งวิ่งมาหาอาจารย์ที่สอนตนเอง ด้วยอาการรีบร้อนกระวนกระวาย เพราะคิดว่าเรื่องที่ตัวเองได้รู้มานั้นมีความสำคัญ จึงอยากให้อาจารย์รับรู้ด้วย สักครู่จึงแจ้งข่าวให้อาจารย์ทราบว่า

“ท่านอาจารย์ ผมมีเรื่องที่เป็นความลับจะแจ้งให้อาจารย์ทราบ”

ฝ่ายอาจารย์เห็นลูกศิษย์วิ่งกระหืดกระหอบมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย จึงกล่าวเพื่อให้ลูกศิษย์รู้สึกผ่อนคลายและให้เรียนรู้ที่จะมีสติก่อนที่จะรับฟังข้อมูลดังกล่าวนั้น

“เดี๋ยวก่อน ความลับที่จะบอกนั้น เธอได้ใช้ตะแกรง ๓ อันมาร่อนหรือยัง ?”

“ตะแกรง ๓ อันที่อาจารย์กล่าวนั้นคืออะไรครับ ?” ลูกศิษย์ถามด้วยความสงสัยและใคร่อยากรู้

ฝ่ายอาจารย์จึงให้ลูกศิษย์เข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วชี้แจงวิธีการนำเรื่องตะแกรง ๓ อันมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัยเรื่องที่รับทราบว่า

“ตะแกรง ๓ อันนั้นคือ ตะแกรงอันที่หนึ่งเรียกว่า “ความจริง” ความลับที่เธอจะบอกนั้นเป็นความจริงหรือยัง?”

“ผมไม่รู้ แต่ได้ยินเขาพูดต่อๆ กันมา” ลูกศิษย์ตอบด้วยความไม่มั่นใจ

“ตะแกรงอันที่สองเรียกว่า“เจตนาดี” หมายถึงความลับที่เธอจะบอกนั้นเต็มไปด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ ?”

“เรื่องที่จะเล่านั้นก็มิได้มีเจตนาที่ดีแต่อย่างใด”

“ถ้าเป็นเช่นนั้น เพื่อความแน่ใจในการตัดสินใจ เราน่าจะใช้ตะแกรงอันที่ ๓ เข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสินด้วยคือ “เรื่องนั้นมีความสำคัญ” มากใช่ไหม ?”

“ก็ไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใดนักหรอกครับ” ลูกศิษย์ชี้แจง

เมื่อการถามไถ่เรื่องความลับที่ลูกศิษย์นำมาบอกแก่อาจารย์ โดยมีเรื่องตะแกรง ๓ อันเข้ามาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ ลูกศิษย์จึงได้ตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวนั้น ฝ่ายอาจารย์จึงให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์ในเรื่องการรับข่าวสารอันเกื้อกูลต่อการเรียนรู้ชีวิตไว้ว่า

“ไม่ว่าเราจะรับรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม หากว่าเรื่องนั้นไม่ใช่ความจริง ไม่มีเจตนาอันเป็นไปเพื่อความดีงาม และไม่มีความสำคัญ การรับรู้เรื่องนั้นก็ควรเป็นการรับทราบแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรที่จะถ่ายทอดสู่ผู้อื่น เพราะรังแต่จะเป็นเรื่องรบกวนจิตใจในการที่จะใช้สติปัญญาพัฒนาสิ่งที่ดีกว่า และที่สำคัญเรื่องราวเหล่านั้นก็ไม่มีคุณค่าพอ ที่จะถือเป็นสาระอันควรนำมาสู่ชีวิตจิตใจของตัวเราอีกต่างหาก”



เริ่มต้นจากจุดจบ

มีชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งได้ไปร่วมงานศพของเพื่อนบ้านที่เสียชีวิต พวกเขาได้มีโอกาสพบปราชญ์เฒ่าผู้ผ่านชีวิตมาอย่างยาวนาน ท่านมีบุคลิกพิเศษคือไม่ว่าเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจะเป็นเรื่องดีใจหรือเสียใจ ก็ดูเหมือนท่านจะไม่สะทกสะท้านต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงเรียนถามท่านว่ามีวิธีปฏิบัติต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร

“ท่านผู้เฒ่า ทำอย่างไรคนเราจึงจะข้ามพ้นความเสียใจในชีวิตไปได้ โดยที่ไม่ต้องทอดอาลัยต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ?”

“ก็ให้รู้จักนำจุดจบและจุดเริ่มต้นของชีวิตมาเชื่อมเข้าหากัน และให้สิ่งเหล่านี้เป็นครูสอนใจสิ” ปราชญ์เฒ่าให้ข้อคิด

บรรดาชายหนุ่มต่างงงกับคำตอบนั้นไปตามๆ กัน จึงถามด้วยความใคร่รู้ว่า

“สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้น หมายความว่าอย่างไร ?

พ่อเฒ่าจึงเฉลยให้รับทราบว่า

“ก็คือให้รู้จักนำตอนจบของชีวิตมาเป็นจุดเริ่มต้น คือให้นำเรื่องความตายอันเป็นจุดจบของชีวิตน้อมมาเป็นครูสอนตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนชีวิตให้รู้จักนำไปเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ชีวิตต่อไป”

“มันจะทำได้อย่างไร ?” เหล่าชายหนุ่มแสดงความสงสัย

ฝ่ายพ่อเฒ่าจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า

“วิธีการก็คือให้พวกเราจินตนาการว่าได้ไปร่วมงานศพของตัวเอง หรืองานศพของบุคคลอันเป็นที่รักของเรา เช่นพ่อแม่ ภรรยา และลูก ตลอดจนถึงเพื่อนๆ และบุคคลที่เกิดมาร่วมโลก หลังจากนั้นให้คิดต่อไปว่าเธอต้องการที่จะได้ยินสิ่งใดจากผู้มาร่ายล้อมร่างอันไร้วิญญาณ หรือเธออยากกล่าวอะไรในงานศพของบุคคลที่เธอรัก หลังจากที่ได้รับคำตอบจากความคิดของตัวเอง โดยมีงานศพอันเป็นจุดสุดท้ายของชีวิตแล้ว ให้เธอนำคำกล่าวที่เธอพูดและคำพูดที่เธอต้องการจากคนอื่นเหล่านั้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนชีวิต และทำทุกอย่างตามที่เธอวาดหวังไว้ เพื่อให้ฉากสุดท้ายในชีวิตของเธอเป็นคำตอบที่งดงาม เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้เธอจะได้คุณค่าของการเชื่อมโยงระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายอย่างรู้คุณ และถึงแม้นตายไปเธอก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีอะไรจะต้องเสียใจอีกต่อไป”



การเกิดที่คุ้มค่า

มีลูกศิษย์อาศัยอยู่ในสำนักปรัชญาแห่งหนึ่งเฝ้าเรียนวิชาความรู้อยู่กับอาจารย์เรื่อยมา ครั้นต่อมาได้ถกปรัชญาว่าด้วยความเหมาะสมเรื่องอายุของคนเรา ต่างคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไป เมื่อทั้งหมดไม่สามารถหาคำตอบที่เป็นจุดร่วมของกันและกันได้ จึงได้พากันไปหาอาจารย์แล้วถามข้อสงสัยนั้น

“ท่านอาจารย์คิดว่าคนเรามีอายุที่จะดำรงอยู่ในโลกนานเท่าไหร่ จึงชื่อว่ามีความเหมาะสมครับ ?”

“เจ็ดสิบปีก็คงเพียงพอแล้วล่ะ” อาจารย์ตอบอย่างอารมณ์ดี

“ไม่ใช่ว่ายิ่งอยู่นานยิ่งมีผลดีต่อชีวิต เพราะสามารถทำอะไรได้ตามใจปรารถนามิใช่หรือครับ ?” ลูกศิษย์ถามทำนองแย้งความคิดเห็นของอาจารย์

ฝ่ายอาจารย์เมื่อรับทราบข้อคิดเห็นของลูกศิษย์ จึงกล่าวให้ข้อคิดว่า

“อาจารย์ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะว่าคนเรานั้นมีความอยากไม่รู้จักจบสิ้น ถ้ารู้ว่าตนเองมีชีวิตอยู่ได้ถึงพันปี ทุกคนก็จะรู้สึกว่าอายุน้อยอยู่ดี ก็จะเรียกร้องที่จะมีอายุมากเพิ่มขึ้นเช่นเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็รังแต่จะหลงกับเวลาที่ได้มา จนลืมคุณค่าที่ควรสร้างขึ้นให้มีในตน จนในที่สุดก็ประมาทเพราะความอยากที่ไม่รู้จักพอนั้น แทนที่จะได้ประโยชน์กลับเป็นการเสียประโยชน์จากเวลาที่ได้มาอีกต่างหาก”

“แต่ว่า…ถ้าหากอาจารย์อยู่ได้ถึงพันปี ก็จะสามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ผู้คนได้มากนะครับ ?” ลูกศิษย์เสนอข้อคิดเห็น

อาจารย์ผู้ผ่านโลกกว้างและมองโลกได้ไกลก็กล่าวแบบยิ้มๆ ให้กับความคิดของลูกศิษย์ด้วยความเอ็นดูว่า

“ถ้าอาจารย์สามารถอยู่ได้ถึงพันปีเช่นดังที่พวกเธอคิด เรื่องที่อาจารย์ต้องตอบลูกศิษย์ก็คงไม่ต่างจากเรื่องที่พวกเธอถามในวันนี้หรอก เพราะความคิดเห็นเรื่องอายุพันปีก็จะน้อยสำหรับคนยุคนั้น และจะแสวงหาคำตอบที่จะทำให้ตัวเองมีอายุมากกว่าพันปีอยู่เช่นเดียวกับที่พวกเธอต้องการทราบเช่นปัจจุบันนี้แหละ”

บรรดาลูกศิษย์จึงเข้าใจในความคิดเห็นของอาจารย์ และฝ่ายอาจารย์ก็ให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์เพื่อนำไปคิดเป็นปรัชญาชีวิตว่า

“คนเราที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะผ่านวัยมาเนิ่นนานหรือเพิ่งเกิดมาได้ไม่กี่ปีนั้นหาใช่สาระสำคัญของการเกิดไม่ แต่คุณค่าที่เกิดขึ้นในชีวิตและประโยชน์ที่จะพึงสร้างสรรค์ต่อสังคมต่างหากเล่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำให้มีในตน เมื่อนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ได้นานหรือสั้น เวลาที่ผ่านมาก็ชื่อว่าคุ้มค่าสำหรับการเกิดแล้ว”



ความโกรธ ไฟสุมทรวงของดวงใจ

ครั้งหนึ่งมีบรรดาลูกศิษย์ผู้เริ่มต้นในการศึกษาวิชาปรัชญากับปรมาจารย์ท่านหนึ่ง วันหนึ่งพวกเขาเกิดการแสดงวิวาทะในการถกบทปรัชญาต่อกันและกัน ทำให้เกิดความไม่พอใจเพราะการกระทบกระทั่งในด้านอารมณ์ แต่เมื่อเคลียและบรรเทาความรู้สึกให้เป็นไปในทางที่ดีได้แล้ว จึงไปเรียนถามอาจารย์

“ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ตัวเราหลุดพ้นออกจากความโกรธ ความไม่พอใจได้”

อาจารย์มองหน้าบรรดาลูกศิษย์ แล้วกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า

“มีเพียงวิธีเดียวที่จะทำให้หลุดพ้นจากความโกรธที่มาครอบงำใจเรา อันเนื่องมาจากการกระทบกับคนอื่นก็คือการรู้จักให้อภัยคนที่มาทำลายเรา แล้วรู้จักหันมาเฝ้าดูจิตใจของตัวเองด้วยสติ”

“ถ้าเราทำอย่างนี้ จะมิเป็นการให้ท้ายคนที่มาทำร้ายเราให้ได้ใจหรือท่านอาจารย์ ?” ลูกศิษย์ถามด้วยความสงสัย

อาจารย์เมื่อเห็นลูกศิษย์แคลงใจเช่นนั้น เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนและเป็นการยกตัว

อย่างให้ชัดขึ้นจึงถามย้อนคืนว่า

“การที่เราสร้างความรู้สึกไม่พอใจ แสดงอาการกริ้วโกรธในใจอยู่ตลอดเวลานั้น เธอมั่นใจหรือว่าอีกฝ่ายเขาจะเป็นทุกข์กับเรา และเขาจะเป็นฝ่ายที่รับความทุกข์ทวีคูณมากขึ้น ?”

ลูกศิษย์ตอบด้วยเสียงอ่อยๆ ว่า

“คงไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน แต่อย่างน้อยเราก็ไม่น่าจะปล่อยให้เขาได้เป็นสุขฝ่ายเดียว เราควรแสดงความรู้สึกไม่พอใจของเราให้เขาได้รับทราบบ้างก็ยังดี”

ฝ่ายอาจารย์พอรับทราบวิธีคิดของลูกศิษย์ดังนั้นแล้ว ด้วยความเป็นห่วง จึงได้กล่าวให้ข้อคิดเตือนสติลูกศิษย์ไว้ว่า

“การที่เราเฝ้าแต่สร้างความโกรธต่อผู้อื่นอยู่เสมอนั้น เปรียบเสมือนกับบุคคลที่แบกขยะอยู่เสมอ เขาย่อมดมกลิ่นของขยะอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกโกรธคนอื่นอยู่ตลอดเวลาก็เช่น

เดียวกัน หากเธอยึดมั่นถือมั่นโดยไม่รู้จักปล่อยวางความรู้สึกเกลียดชังนั้นเสีย เธอเองก็เปรียบเหมือนคนที่คอยแบกขยะ ต้องดมกลิ่นอันน่าโสโครกนั้นอยู่ตลอดเวลา หนำซ้ำถึงเธอจะมีความคิดว่าคนอื่นจะเหม็นด้วย แต่คนอื่นก็หาเป็นเช่นเธอคิดไม่ มีแต่เธอผู้แบกขยะคนเดียวเท่านั้นที่ต้องดมกลิ่นนั้น โดยที่คนอื่นจะไม่รับรู้กับเธอแม้แต่เพียงคนเดียว”



ปัจจุบันคือสิ่งที่ประเสริฐสุด

มีการกล่าวอุปมาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยมีปัจจุบันขณะเป็นครูสอนใจไว้ว่า มีอาจารย์กับลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งได้ไปชมทัศนียภาพของธรรมชาติที่ริมแม่น้ำ มีลูกศิษย์คนหนึ่งอุทานขึ้นด้วยความรู้สึกพอใจว่า

“พวกคุณดูพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกดินนั่นสิ ช่างสวยงามเหลือเกิน”

ขณะเดียวกันก็มีอีกคนพูดแย้งขึ้น

“พระอาทิตย์ตกที่นี่ไม่สวยเท่าไหร่หรอก สู้พระอาทิตย์ตกที่ลำธารใหญ่ที่เราเคยไปดูไม่ได้ พระอาทิตย์ตกที่โน้นงดงามเกินกว่าจะบรรยาย”

ฝ่ายอาจารย์เห็นลูกศิษย์กำลังถกเถียงกัน ถึงเรื่องความงามของพระอาทิตย์ตอนตกดิน จึงเดินเข้าไปเอามือตบไหล่ลูกศิษย์ทั้งสองคนเบาๆ และให้ข้อคิดว่า

“เป็นเช่นนั้นเองหรือ แต่อาจารย์ว่าขณะที่พวกเธอกำลังวุ่นวายกับการเปรียบเทียบในสมองอยู่นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือเธอจะไม่ได้ชื่นชมกับความงดงามต่อสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เพราะจิตใจและกายของเธอไม่ได้อยู่ที่นี่ และขาดความสัมพันธ์ที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นการที่เธอเปรียบเทียบโดยอาศัยสมองคิด แต่ลืมทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่เป็นปัจจุบันนั้น เป็นการทำลายความงดงามที่พึงจะได้ชื่นชมอย่างน่าเสียดาย จงอย่าเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นอดีตกับปัจจุบัน สิ่งนั้นกับสิ่งนี้ ตัวเราและคนอื่น เพราะขณะที่ความรู้สึกเกิดการเปรียบเทียบ เธอจะพลาดโอกาสที่จะได้ชื่นชมคุณค่าอันเกิดจากปัจจุบันขณะอย่างน่าเสียดาย”







เพราะไม่เข้าใจ จึงห่างไกลขนานกัน

มีนิทานปรัชญาจีนกล่าวเปรียบเทียบเรื่อง “ความจริงใจ” และ “ความเสแสร้ง” ไว้ว่า แต่ก่อนความจริงใจและความเสแสร้งนั้นเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยกัน ทั้งสองจะไม่หนีห่างจากกัน

อยู่มาวันหนึ่งความจริงใจและเสแสร้งได้ไปอาบน้ำด้วยกันที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ทั้งสองถอดเสื้อผ้าไว้ที่ฝั่ง แล้วกระโจนลงไปเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ขณะที่เล่นน้ำอยู่นั้น เสแสร้งก็ขึ้นมาก่อนเพื่อที่จะแต่งตัวรอจริงใจ

พอขึ้นมาถึงฝั่งก็รู้สึกว่าชุดเดิมของตัวเองไม่น่าสวมใส่ ความรู้สึกตอนนั้นจึงเกิดความต้องการชุดของจริงใจที่ดูสะอาดสะอ้านแทน พอคิดดังนั้นก็นำชุดของจริงใจมาใส่แทนชุดเดิมของตัวเอง และเพราะกลัวจริงใจจะต่อว่าให้จึงรีบหนีไป

ฝ่ายจริงใจหลังขึ้นมาจากน้ำแล้ว ก็พบว่าชุดของตัวเองถูก เสแสร้งขโมยไป แทนที่จะสวมชุดของเสแสร้ง เขาก็ไม่ใส่ใจที่จะสวมใส่แต่อย่างใด จึงเดินทางกลับบ้านในสภาพเปลือยเปล่า ใครเห็นต่างก็หัวเราะเยาะ แต่จริงใจก็ยินดีที่จะเปลือยเปล่าเช่นนั้น

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จริงใจและเสแสร้งก็แยกทางกันเดินตราบจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมชมชอบเสแสร้งก็ตามที เพราะมีเครื่องแต่งกายที่ทำให้คนพอใจ แต่จริงใจก็ยอมที่จะเป็นผู้เปลือยเปล่าเพื่อแสดงความบริสุทธิ์อยู่เสมอเช่นเดียวกันตลอดมา



เป็นเช่นนั้นเอง

มีอาจารย์และลูกศิษย์กลุ่มหนึ่ง ได้ศึกษาภาคทฤษฎีการปฏิบัติธรรมมามากพอสมควร ต่อมาอาจารย์จึงพาลงภาคสนามคือการไปปฏิบัติธรรมจริงในป่าช้า พอตกตอนกลางคืน บรรดาลูกศิษย์ที่ร่วมบำเพ็ญจิตภาวนาก็เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาอย่างจับใจ แต่พอมองไปที่อาจารย์กลับเห็นว่าท่านมีอาการสงบเย็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงเรียนถามอาจารย์ว่า

“อาจารย์มาอยู่อย่างนี้ ไม่กลัวว่าภูตผีจะหลอกเอาหรือ ถ้าเกิดว่าผีมีจริง แล้วมาทำร้าย อาจารย์จะทำอย่างไรครับ ?”

“ก็สู้กับมันจนตายไปข้างหนึ่งก็เท่านั้นเอง”

“ถ้าเกิดว่าสู้มันไม่ได้ล่ะครับ อาจารย์จะทำอย่างไร ?”

“ถ้าสู้ไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอะไรมากมาย อย่างมากก็ตายไปเป็นพวกมันเท่านั้นเอง”

“ทำไมอาจารย์พูดง่ายอย่างนั้นล่ะครับ ?”

ฝ่ายอาจารย์จึงกล่าวให้ลูกศิษย์รับทราบถึงวิธีการรับมือกับปัญหา ที่พร้อมจะพัดเข้ามาเป็นบททดสอบชีวิตอย่างรู้เท่าทันว่า

“ก็มันเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง เราไม่สามารถที่จะแก้ไขเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดหรอก แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ ทำใจให้ยอมรับที่จะเรียนรู้สิ่งที่เกิด ขึ้นด้วยจิตใจที่สงบ เพราะอย่างน้อยเราก็ตอบตัวเองได้ว่าเราไม่วุ่นวายตามเหตุปัจจัยเหล่านั้นแต่อย่างใด”



“อภัย” คุณค่าที่ควรใส่ใจในชีวิต

มีครอบครัวหนึ่งอยู่ด้วยกัน ๔ คนคือพ่อ แม่ ลูก และลูกสะใภ้ ครอบครัวนี้มีความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก แต่ละคนต่างให้เกียรติเคารพยกย่องซึ่งกันและกันเสมอ ยากที่จะหาครอบครัวใดมาเปรียบ ต่อมาผู้เป็นแม่ได้ล้มป่วยลง ลูกชายจึงได้ออกไปซื้อยาสมุนไพรอย่างดีมาให้ภรรยาต้มให้แม่ของตนดื่ม และซื้อไก่มาตุ๋นเพื่อเป็นยาบำรุง

ฝ่ายลูกสะใภ้หลังจากได้รับมอบหมายแล้วก็จัดการต้มยาและตุ๋นไก่ด้วยความรู้สึกยินดี หลังต้มยาและตุ๋นไก่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เธอก็ยกยาและไก่ตุ๋นมาให้แม่ พอดีเห็นแม่กำลังหลับ จึงได้วางยาบำรุงและไก่ตุ๋นไว้ที่โต๊ะ แล้วก็ออกไปทำงานอย่างอื่น

ในขณะที่ลูกสะใภ้กำลังทำงานอยู่นั้น เผอิญสุนัขที่เลี้ยงไว้ก็โผล่เข้าไปในห้องนอนของแม่ มันได้กลิ่นไก่ตุ๋นจึงจัดการกินในทันที หลังจากเวลาผ่านไปพอประมาณ ลูกสะใภ้คิดว่าแม่คงตื่นแล้ว จึงเข้าไปเพื่อที่จะป้อนยาและไก่ตุ๋นนั้น แต่เธอก็ต้องตกใจเพราะภาพที่เห็นคือสุนัขกำลังกินไก่ตุ๋นจนหมด เธอได้แต่นั่งทรุดลงร้องไห้ พลางกล่าวโทษตัวเอง

“เป็นความผิดของหนูเองที่ไม่ทันได้ระวัง ปล่อยให้สุนัขเข้ามากินไก่ตุ๋นได้”

ฝ่ายผู้เป็นแม่พอตื่นขึ้นมา และเห็นลูกสะใภ้ร้องไห้พร้อมกับกล่าวโทษตัวเองเช่นนั้น แทนที่นางจะกล่าวตำหนิหรือซ้ำเติมกลับกล่าวปลอบขวัญว่า

“อย่ากล่าวตำหนิตัวเองเลยลูก เรื่องนี้จะว่าไปแล้วก็ต้องโทษแม่จะดีกว่าที่มัวแต่นอน ทำให้ไม่สามารถไล่สุนัขที่เข้ามาในห้องนอนได้”

ฝ่ายผู้เป็นพ่อที่กำลังทำงานอยู่หลังบ้าน ได้ยินเสียงภรรยาและลูกสะใภ้กล่าวตำหนิตัวเองเช่นนั้น จึงเข้าไปถามเหตุการณ์ว่ามีอะไรเกิดขึ้น พอทราบใจความทั้งหมดก็กล่าวว่า

“พวกเธออย่ากล่าวตำหนิตัวเองอีกเลย มันเป็นความผิดของพ่อเองที่เห็นลูกสะใภ้ทำงานอยู่ ก็ไม่รู้จักแบ่งเบาภาระของเธอ จะได้ให้เธอคอยปรนนิบัติแม่อย่างเดียว พ่อก็มัวแต่ยุ่งกับงานของตัวเองอยู่ มิเช่นนั้นสุนัขก็คงจะเข้ามาในห้องไม่ได้หรอก”

ขณะที่ทุกคนกำลังกล่าวตำหนิตัวเองอยู่นั้น ลูกชายที่ออกไปธุระนอกบ้านได้กลับมา ได้เห็นทั้งสามกำลังกล่าวตัดพ้อตัวเองเช่นนั้น จึงกล่าวขึ้นว่า

“พ่อและแม่หยุดตำหนิตัวเองได้แล้ว เป็นเพราะผมเองนั่นแหละที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าวันนี้ผมนำสุนัขไปด้วยเช่นทุกวันที่ผ่านมา มันคงไม่เข้ามากินไก่ตุ๋นแน่นอน เพราะผมมัวแต่ไปนั่งพูดคุยกับเพื่อนบ้านอยู่ จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น”



วันที่ชีวิตกลับจากการหลงทาง

มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่งจัดว่าเป็นผู้มีความร่ำรวยมหาศาล อยู่ต่อมาภรรยาของเขาได้ให้กำเนิดลูกชาย ทว่าวันหนึ่งลูกชายอันเป็นที่รักของเขา ได้หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ นำความเสียใจมายังเศรษฐีและภรรยาเป็นอย่างมาก

แม้ว่าเขาจะพยายามตามหาทุกวิถีทางแต่ก็หาไม่เจอ กาลเวลาผ่านไปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่ลูกชายของเศรษฐีหายไป วัยของเขาก็คงจะก้าวสู่ความเป็นหนุ่มพอดี ฝ่ายเศรษฐีเองก็ยังส่งคนติดตามหาลูกชายอยู่ตลอดเวลา

อยู่มาวันหนึ่งเหมือนความโชคดีจะเริ่มเข้าข้างเศรษฐี เพราะขณะที่เศรษฐีนั่งทอดอาลัยเพราะคิดถึงลูกชายที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยอยู่นั้น สายตาของเขามองไปเห็นขอทานหนุ่มคนหนึ่งที่หน้าละม้ายคล้ายลูกชายของเขาเป็นอย่างมาก โดยความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นพ่อที่มีต่อลูกและความจำรูปลักษณ์ของลูกได้

เศรษฐีรู้ทันทีว่าชายหนุ่มคนนี้คือลูกชาย ที่หายสาบสูญไปเมื่อหลายปีที่แล้ว เขาจึงให้คนใช้ออกไปเรียกขอทานคนนั้นเข้ามาหา คนใช้ ๒ - ๓ คนจึงออกไปแจ้งข่าวแก่ชายหนุ่ม แต่หนุ่มขอทานกลับพูดด้วยความกลัวว่า

“อภัยด้วยเถิด ฉันจะไม่ยอมกลับไปในที่ของท่านอีก ถ้าท่านไม่ต้องการให้ทานแก่ข้าก็ไม่เป็นไร เพราะว่าถึงแม้ฉันจะเป็น

ขอทานแต่ก็ไม่ได้ทำสิ่งใดผิดมิใช่หรือ”

แล้วขอทานหนุ่มก็รีบเดินหนีจากบ้านของเศรษฐีทันที เพราะเกรงว่าถ้าโดนเศรษฐีจับได้จะถูกทำโทษ ฝ่ายเศรษฐีพอได้รับรายงานจากคนใช้ก็ให้รู้สึกสงสารและคิดถึงลูกชายเป็นยิ่งนักที่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงตนเองนั้นเป็นใคร

เขาจึงสั่งให้คนใช้ของเขาปลอมตัวเป็นขอทาน เพื่อที่จะเข้าไปตีสนิทกับลูกชายของเขา และเมื่อคนใช้ของเศรษฐีได้แอบเข้าไปในหมู่ของคนขอทานและตีสนิทกับลูกชายของเศรษฐีได้แล้ว ถึงเวลาอันเหมาะสมจึงพูดกับเขาว่า

“ฉันพบงานดีๆ อย่างหนึ่งที่ไม่หนักมากนัก แต่มีรายได้ดีมาก มีทั้งห้องพักส่วนตัว การเป็นอยู่ถือว่าดีมากเลยทีเดียว เธอสนใจที่จะไปกับฉันไหม? ”

“ถ้าเป็นอย่างที่เธอพูดจริงๆ ฉันก็สนใจที่จะไปทำเหมือนกัน” ลูกชายของเศรษฐีตกปากรับคำที่จะไปทำงานด้วย

ทั้งสองจึงได้เข้าไปเป็นคนสวนบ้านของเศรษฐี ชายหนุ่มทำงานสวนจนคุ้นเคยแล้ว ต่อมาเศรษฐีจึงเรียกให้ไปเป็นคนใช้บนบ้าน ต่อมาเมื่อเขาได้ทำงานจนเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เศรษฐีก็มอบตำแหน่งผู้จัดการมรดกให้เขาเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือ ทำให้เขาได้อยู่ใกล้ชิดเศรษฐีและผู้เป็นแม่มากขึ้น และได้เห็นความสำคัญของงาน จนมีความตั้งใจที่จะทำงานอย่างสุดกำลังความ

สามารถที่เขามี

ครั้นเวลาล่วงเลยผ่านไป เศรษฐีและภรรยาก็นับวันจะแก่ตัวลง อยู่ต่อมาเศรษฐีก็ล้มป่วยลง เขาจึงเชิญวงศาคณาญาติทั้งหมดมาร่วมประชุมกัน และกล่าวแนะนำชายหนุ่มที่เป็นผู้ช่วยเหลือในการจัดการมรดกทั้งหมดว่า

“ญาติมิตรทั้งหลาย นี่คือบุตรชายของข้า ที่หายสาบสูญไปตั้งแต่วัยเยาว์ บัดนี้เขาได้กลับมาจากการหลงเดินทางไกลของชีวิต เพื่อกลับมาสู่มาตุภูมิของตนเองแล้ว ข้าขอประกาศว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของข้า ขอยกให้เขาเป็นผู้สืบต่อนับแต่นี้เป็นต้นไป”

ฝ่ายชายหนุ่มผู้ประจักษ์แจ้งในคำประกาศและรับรู้ว่าตนเป็นใคร ถึงกลับร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเสียใจ ที่ไม่ทราบว่าคนที่พยายามช่วยเหลือเขามาตลอดนั้นคือพ่อของเขาเอง แต่เขาก็ยินดีที่จะสืบสานมรดกของพ่อต่อไป เพราะเขาได้พ้นจากความหลง ที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเป็นความหลง แล้วกลับมาอยู่กับสมมุติแห่งความจริงของชีวิต ที่ค้นหาเจออีกครั้งหนึ่งได้แล้ว



อิสระจากการปล่อยวาง

มีผู้เฒ่าคนหนึ่งชื่อว่าเป็นปราชญ์ประจำหมู่บ้าน และถือว่าเป็นอาจารย์สอนคนในหมู่บ้านนั้นด้วย ท่านเป็นผู้มีความเอื้ออารีในทุกด้าน เป็นคนใจเย็น มีหน้าตาเบิกบานแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา แม้นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร แต่ผู้เฒ่ากลับดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา จนลูกศิษย์ในหมู่บ้านเกิดความสงสัยในกิริยานั้น

อยู่มาวันหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งเห็นผู้เฒ่ากำลังรดน้ำต้นไม้กระถางอยู่ จึงอาสาเข้าไปช่วยเหลือ แต่ด้วยความที่ไม่ทันระวัง เขาได้ทำกระถางดอกไม้ที่เรียงรายอยู่แตกทั้งชั้น พอผู้เฒ่ามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น กลับยิ้มให้เขาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

ฝ่ายลูกศิษย์กลับรู้สึกสงสัยว่า สิ่งที่อาจารย์แสดงออกนั้น เป็นการแกล้งทำให้ตนเองดีใจ หรือว่าเป็นความปกติที่มีอยู่ในอาจารย์เอง พอตอนจะลากลับเขาจึงเรียนถามท่านผู้เฒ่าว่า

“ท่านอาจารย์ เมื่อผมทำกระถางดอกไม้แตกทั้งชั้น แต่ทำไมอาจารย์กลับไม่แสดงอาการโกรธแต่อย่างใด ทำไมอาจารย์จึงไม่ตำหนิการกระทำของผมเลย ?”

อาจารย์ผู้ผ่านการเรียนรู้ชีวิตมาอย่างยาวนานยิ้มอย่างอารมณ์ดี และตอบคำถามของลูกศิษย์ด้วยอาการสงบว่า

“เธอรู้ไหมว่าที่อาจารย์ปลูกต้นไม้เหล่านี้เพื่ออะไร เหตุผลที่อาจารย์ปลูกต้นไม้เหล่านี้ ก็เพื่อพัฒนาชีวิตของอาจารย์เอง เป็นการปลูกต้นไม้เพื่อให้เขาเป็นครูสอนเรา สอนให้จิตใจรู้จักสงบเย็น และรู้จักปล่อยวางให้เป็นในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ ครั้นเธอมาทำกระถางต้นไม้แตก อาจารย์จึงมีความรู้สึกว่า ต้นไม้กำลังสอนธรรมะอาจารย์อยู่ สอนให้รู้ว่าเมื่อกระถางดอกไม้เหล่านี้แตก จะรู้จักปล่อยวางเป็นไหม ? จะรู้จักวางใจอย่างไร ? ฉะนั้นเหตุผลที่อาจารย์ปลูกต้นไม้ ก็เพื่อทะนุบำรุงจิตใจของตนเองให้รู้จักปล่อยวาง มิใช่ปลูกต้นไม้เพื่อที่จะสร้างความโกรธให้เกิดขึ้นในชีวิต”



อย่าถามเรื่องที่อยู่ไกลตัว

มีอาจารย์เซ็นในประเทศญี่ปุ่นนามว่าชิงกาน ท่านชื่อว่าเป็นผู้ศึกษาเซ็นด้วยความพากเพียรเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านได้อุทิศชีวิตในการศึกษาปรัชญาเทนได เป็นเวลาถึง ๖ ปี และเซ็นอีก ๗ ปี

ต่อจากนั้นท่านก็ได้เดินทางเพื่อไปปฏิบัติตามวิถีแห่งเซ็น ในประเทศจีนเป็นเวลาถึง ๑๓ ปี เมื่อท่านเดินทางกลับมาญี่ปุ่น จึงมีคนให้ความสนใจในตัวท่าน รวมไปถึงวิถีแห่งเซ็นเป็นจำนวนมาก ต่างคนก็เพียรที่จะถามข้อสงสัย ที่ตนเตรียมมาเพื่อคลายข้อสงสัยของตน

แต่อาจารย์ชิงกานก็มักไม่ค่อยจะตอบปัญหาเหล่านั้น อยู่มาวันหนึ่งมีอาจารย์ผู้ชื่อว่าเชี่ยวชาญในด้านวิชาการ และการศึกษาหลายแขนงมาหา เพื่อถามข้อสงสัยกับท่าน พอมาถึงที่พักจึงได้กล่าวแก่ท่านว่า

“ท่านอาจารย์ครับ ผมได้ศึกษาหลักธรรมของนิกายเทนไดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า ทำไมเขาถึงกล่าวไว้ว่าหญ้าและต้นไม้ก็สามารถตรัสรู้ได้ ข้อความนี้ถือว่าแปลกมาก มันจะเป็นไปได้อย่างไรครับท่าน”

อาจารย์ชิงกานเมื่อรับฟังถ้อยคำของนักวิชาการจบลง จึงกล่าวให้ข้อคิดว่า

“ฉันว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาถกเถียงกันเรื่องหญ้า และต้นไม้ตรัสรู้ได้อย่างไร แต่อยากถามเธอว่าเคยคิดบ้างไหม ที่จะตรัสรู้ด้วยตัวของเราเอง”

“ไม่เคยคิดครับท่านอาจารย์” นักวิชาการตอบรับ

“ถ้าอย่างนั้น เธอไม่ต้องถามอะไรอีกหรอก กลับไปบ้านแล้วถามตัวเองและลงมือปฏิบัติเพื่อให้ตรัสรู้ด้วยตัวเองจะดีกว่า”

อาจารย์ชิงกานกล่าวสรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความ







อย่าหยุดยั้ง ถ้ายังไม่พยายาม

มีนักดาบซามูไรนามว่ามาตาซุโร ยาคยุ เขาชื่อว่าเป็นนักดาบที่เรืองนามคนหนึ่ง แต่กว่าที่จะได้รับการยอมรับว่าเขาคือสุดยอดนักดาบ เขาเคยถูกผู้เป็นพ่อปรามาสว่า “ไร้น้ำยา” มาก่อน กระทั่งว่าไม่ยอมถ่ายทอดวิชาฟันดาบให้กับเขาเลยทีเดียว

แต่ด้วยความมุ่งมั่นและต้องการลบคำสบประมาทของพ่อ มาตาซุโรได้เดินทางเพื่อแสวงหาครูสอนฟันดาบ จนได้พบครูท่านหนึ่งนามว่าบันโซ เขาจึงขอมอบตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน

อาจารย์บันโซเห็นหน้ามาตาซุโร ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่พ่อของเขาเคยทำมา แถมกล่าวปรามาสให้เจ็บช้ำน้ำใจ

“เธอต้องการที่จะเรียนการฟันดาบจากฉันรึ ดูท่าทางแล้วคงไม่มีทางเรียนได้หรอก”

“แต่ผมจะพยายามอย่างหนักครับ จะต้องใช้เวลากี่ปีผมก็ยอม ขอเพียงแต่ท่านยอมรับผมเป็นลูกศิษย์” มาตาซุโรอ้อนวอน

“ถ้าอย่างนั้น เธอคงต้องเรียนจนตลอดชีวิตของเธอนั่นแหละ”

“ผมรอนานขนาดนั้นไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าท่านกรุณาจะสอนให้ ถึงแม้จะลำบากสักเพียงใดผมก็จะพยายามเต็มที่ แต่ถ้าผมอยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านล่ะ ผมจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่” มาตาซุโรขอต่อรอง

“ถ้าเธออยู่ใกล้ชิดเราทุกเมื่อ ก็คงใช้เวลาประมาณ ๒๐ ปีเห็นจะได้”

“แต่พ่อผมนับวันจะแก่ลง ผมต้องกลับไปดูแลท่านนะครับ”

“ถ้าเธอกล่าวเช่นนี้ ก็คงต้องใช้เวลาถึง ๓๐ ปีแล้วล่ะ”

“เอ๊ะ ทำไมท่านถึงพูดวกไปวนมาเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามผมก็ขออยู่เรียนวิชากับท่านอย่างสุดความสามารถในเวลาอันรวดเร็วก็แล้วกันครับ” มาตาซุโรกล่าวอย่างเคืองๆ

พออาจารย์บันโซเห็นปฏิกิริยาโต้ตอบเช่นนั้น จึงกล่าวแก่มาตาซุโรว่า

“ถ้าเช่นนั้น เธอคงต้องอยู่กับฉันที่นี่ถึง ๗๐ ปีแล้วล่ะ เพราะคนที่อยากสำเร็จวิชามากอย่างเธอ มักจะเรียนรู้ได้ช้า”

“ถ้าเช่นนั้น จะอยู่กี่ปีก็สุดแท้แต่ท่านอาจารย์ก็แล้วกันครับ”

มาตาซุโรยอมรับหลักการที่อาจารย์บันโซเสนอ และยอมรับคำตำหนิในความเป็นคนใจร้อนของตน

หลังจากยอมรับมาตาซุโรเป็นลูกศิษย์แล้ว อาจารย์บันโซก็ได้ส่งเขาไปอยู่ที่โรงครัวของสำนัก และได้มอบหมายให้เขาทำกับข้าว ล้างชาม ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการทำสวน โดยที่ไม่เคยสอนวิชาฟันดาบแก่เขาแม้แต่น้อย

จนกระทั่งสามปีผ่านไป มาตาซุโรก็ยังคงทำงานหนักเช่นทุกปีที่ผ่านมา เขาได้แต่นึกน้อยใจที่อาจารย์ไม่ยอมถ่ายทอดวิชาให้ แต่เขาก็ยังอดทนที่จะอยู่เรียนการฟันดาบต่อไปอย่างมุ่งมั่น

กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง อาจารย์บันโซได้ย่องเข้าไปในครัว เดินเข้าไปข้างหลังของมาตาซุโร แล้วเอาดาบไม้ฟาดลงที่หลังของเขาอย่างแรง พอวันต่อมาขณะที่มาตาซุโรกำลังหุงข้าวอยู่ อาจารย์บันโซก็กระโดดขึ้นคร่อมเขาอย่างไม่รู้ตัว

เมื่อเหตุการณ์เป็นบททดสอบเช่นนี้เรื่อยๆ มาตาซุโรจึงเริ่มระวังตัวมากขึ้น เพื่อป้องกันการจู่โจมจากอาจารย์ทุกวันคืน เขาระวังตัวจนเกิดเป็นความชำนาญในการป้องกันตัว ไม่มี แม้แต่วินาทีเดียวที่จะเผลอสติ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองรอดจากคมดาบ และการโจมตีของอาจารย์บันโซ

พอนานวันเข้า การเรียนรู้วิธีหลบดาบของอาจารย์ก็เกิดผลแก่มาตาซุโรโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว เขาสามารถที่จะหลบดาบได้ด้วยความว่องไว จนเป็นที่พอใจของอาจารย์บันโซ อยู่มาวันหนึ่งอาจารย์จึงพูดกับเขาว่า

“เจ้าได้สำเร็จวิชาการฟันดาบแล้ว”

“อ้าว ! สำเร็จวิชาตอนไหนครับท่านอาจารย์” เขากล่าวอย่างประหลาดใจ

“ก็เธอสามารถหลบได้แม้กระทั่งการโจมตีจากอาจารย์ แล้วใครล่ะจะทำร้ายเธอได้”

มาตาซุโรจึงได้รู้ความจริงว่าที่อาจารย์ทำเช่นนี้ก็เพื่อสอนเขาให้รู้จักระวังไม่ให้เผลอสติในการศึกษาเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และก็เป็นความจริงอย่างที่อาจารย์บันโซกล่าวไว้

เมื่อเขาได้ทดสอบการฟันดาบกับเพื่อนร่วมสำนัก ก็ไม่มีผู้ใดฟันถูกเขาได้แม้แต่คนเดียว เขามีความว่องไวในการหลบคู่ต่อสู้ และโจมตีคู่ต่อสู้ฝ่ายตรงข้าม ด้วยความรวดเร็วดุจสายฟ้า หลังจากนั้นเขาจึงลาอาจารย์กลับบ้าน และเป็นซามูไรที่ชื่อกระฉ่อนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต

มีพระรูปหนึ่งเห็นอาจารย์บันไก มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากก็รู้สึกอิจฉา วันหนึ่งเขาประสงค์ที่จะไปลองดีกับอาจารย์บันไก จึงเดินทางไปยังสำนักของท่าน พอไปถึงก็เริ่มเปิดฉากการโต้คารมในทันที โดยเดินเข้าไปส่งเสียงเอะอะโวยวาย ในขณะที่อาจารย์บันไกกำลังแสดงธรรมอยู่ ท่านจำต้องหยุดแสดงธรรม ฝ่ายพระอวดดีจึงพูดโม้ขึ้นว่า

“ท่านอาจารย์บันไก ท่านรู้ไหมว่าอาจารย์ของเรา มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าผู้ใด เพราะท่านสามารถจับพู่กันอยู่ฝั่งนี้ ให้ลูกศิษย์ยืนหยิบกระดาษชูขึ้นอีกฝั่งหนึ่ง แต่ท่านสามารถเขียนพระนามของพระอมิตาภะพุทธเจ้า แล้วให้ลอยไปติดลงบนแผ่นกระดาษนั้นได้ แล้วท่านทำได้อย่างนั้นไหมล่ะ”

อาจารย์บันไกนั่งรับฟังข้อมูลจากพระรูปนั้นด้วยอาการสงบ หลังจากพระที่มาท้าทายกล่าวจบลง ท่านจึงกล่าวตอบด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอย่างอารมณ์ดีว่า

“อาจารย์ของเธอถึงแม้จะแสดงปาฏิหารย์ได้ดีเยี่ยมราวกับคนเล่นกล แต่นั่นไม่ใช่วิถีที่จะทำให้หลุดพ้นได้ ไม่สามารถทำให้สติปัญญา งอกงามในจิตใจได้แต่อย่างใด แต่ฉันมีปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าอาจารย์ของเธอเสียอีก”

“ปาฏิหาริย์ที่ว่าของท่านคืออะไร ?” พระผู้มาเยือนย้อนถาม

“ปาฏิหาริย์ของฉันก็คือ เวลาหิวก็กิน เวลากระหายก็ดื่ม” อาจารย์บันไกกล่าว

พอพระที่มาลองดีฟังประโยคดังกล่าว ก็เกิดความรู้แบบปิ้งแว๊บขึ้นในฉับพลัน สามารถเข้าถึงธรรมชาติแห่งการรู้แจ้งในทันที เพราะเข้าใจในความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งด้วยสติ

ปัญญาอย่างถ่องแท้

และรู้ว่าแท้จริงแล้วปาฏิหาริย์มิใช่การเกิดขึ้น เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวตนแต่อย่างใด แต่เป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความงดงามของชีวิตจิตใจต่างหาก และเป็นผลอันเนื่องมาจากความพยายาม และรู้เท่าทันอารมณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นจึงชื่อว่า “เป็นปาฏิหาริย์ในชีวิตจริง”



ขอบคุณที่เมตตา

มีอาจารย์เซ็นนามว่าฮากุอิน ท่านเป็นพระเถระที่สอนเซ็นได้อย่างมีศิลปะ แต่ละปีจะมีผู้มาศึกษาเซ็นกับท่านเป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนผู้มาศึกษาเซ็นนั้น ก็มีพระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสแห่งหนึ่งนามว่าไดซึอิน ในนิอิฮาชิ ผู้มีอายุมากถึง ๖๐ ปี

แต่เพราะความที่ยังไม่เข้าใจถึงความเป็นเซ็น ท่านจึงมาขอคำแนะนำจากอาจารย์ฮากุอินอยู่เสมอท่านไดซึอินมีกิจที่ต้องทำมากมายในฐานะเจ้าอาวาส เวลาที่จะศึกษาเซ็นจึงต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ

แต่ทำอย่างไรท่านก็ไม่สามารถเข้าใจภาวะแห่งสัจธรรมได้สักที จึงต้องเดินทางไปหาอาจารย์ฮากุอินอยู่บ่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งท่านได้เดินทางไปหาอาจารย์ฮากุอิน แล้วกล่าวด้วยความท้อแท้ว่า

“แม้ท่านอาจารย์จะเมตตาแนะนำอย่างไร ผมก็ยังไม่สามารถที่จะเห็นสัจธรรมตามความเป็นจริงสักที”

อาจารย์ฮากุอินจึงกล่าวให้กำลังใจแก่เขาว่า

“อย่าเพิ่งท้อแท้สิไดซึอิน เธอต้องพยายามให้มากเป็นสองเท่า และลองพยายามต่อไปอีกสัก ๓ ปี ถ้า ๓ ปีผ่านไปแล้ว แต่เธอยังไม่สามารถเข้าถึงสัจธรรมใดๆ มาตัดหัวฉันได้เลย”

พอไดซึอินได้รับฟังเช่นนั้น ก็มีกำลังใจที่จะศึกษาเพิ่มขึ้น เขาได้กลับไปบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก จนกระทั่ง ๓ ปีล่วงผ่านไป แต่ก็ไม่สามารถรู้อะไรเลย จึงเดินทางไปหาอาจารย์ฮากุอินตามที่สัญญาไว้ ด้วยดวงใจที่หดหู่ท้อแท้อย่างคนสิ้นหวัง แล้วรายงานให้อาจารย์ฮากุอินทราบ

“ท่านอาจารย์ ผมไม่พบสิ่งใดเลย”

“ไม่พบอะไรเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นก็ป่วยการที่จะตัดหัวเรา เพราะเป็นการเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เธอลองพยายามอีกสักครั้งได้ไหม ให้เวลาอีกสัก ๓ เดือน”

อาจารย์ฮากุอินกล่าวแนะนำ ในขณะที่พูดก็มีน้ำตาไหลออกมาจากตาของท่านด้วย และท่านก็ตบที่หลังพระผู้เฒ่าไดซึอินด้วยฝ่ามือ

หลังจากได้พยายามอย่างสุดกำลังความสามารถ แต่ก็ไม่เข้าใจอะไรเลย ไดซึอินจึงเดินทางไปหาอาจารย์ฮากุอินด้วยน้ำตานองหน้า และกล่าวกับท่านอย่างหมดอาลัยในชีวิต

“ท่านอาจารย์ได้เมตตาสั่งสอนผมมาตลอด แต่ผมก็ไม่สามารถเห็นสัจธรรมได้ คงเป็นเพราะว่าผมมีบาปกรรมหนัก จึงไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งใดได้เลย”

พอได้ฟังไดซึอินพร่ำบ่นเช่นนั้น อาจารย์ฮากุอินจึงตะโกนใส่หน้าทันที

“เราไม่สามารถที่จะสั่งสอนเธอได้ต่อไปอีกแล้ว ไปตายซะ”

“ขอบคุณที่อาจารย์เมตตาสั่งสอนมาเป็นเวลาหลายปี คงมีเพียงความตายเท่านั้นที่จะชดเชยความโง่เขลาของผมได้”

ไดซึอินกล่าวขอบคุณอาจารย์ฮากุอิน และกล่าวตัดพ้อโชคชะตาชีวิตของตัวเอง

หลังจากนั้นเขาจึงลาอาจารย์ฮากุอิน และเดินไปยังหน้าผาเพื่อจะฆ่าตัวตาย เขาได้นั่งรำพึงถึงชีวิตของตนเองตลอดค่ำคืนนั้น ด้วยความอาลัยเป็นที่สุด น้อยใจในความเพียรที่มากแต่ไม่มีผลต่อการเข้าใจสัจธรรมใดๆ จนก้าวเข้าสู่รุ่งอรุณของวันใหม่อีกวัน พอถึงตอนนี้เขาได้เดินไปยืนอยู่ที่หน้าผาและหย่อนขาลงไป เพื่อเตรียมที่จะกระโดดฆ่าตัวตายอย่างที่หวัง

แต่พอเขาหันกลับมาเห็นแสงรัศมีของดวงอาทิตย์ยามเช้าเท่านั้น จิตที่ฝึกมานานและความทอดอาลัยต่างๆ ในชีวิตถูกวางลง จิตของเขาลุกโพล่ง ความมืดมนในชีวิตถูกสลายออกไปจากจิตใจในบัดดล เปรียบเช่นแสงสว่างของพระอาทิตย์ เกิดขึ้นเพื่อขับไล่ความมืด ไดซึอินดีใจจนน้ำตาไหล และร้องโกนเหมือนคนบ้าคลั่งว่า

“ผมรู้แล้ว ผมได้เห็นสิ่งที่ท่านอาจารย์บอกแล้ว”

ว่าดังนั้นแล้ว เขาก็วิ่งไปยังสำนักของอาจารย์ฮากุอิน เพื่อที่จะบอกสิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้ด้วยใบหน้าที่อาบไปด้วยน้ำตา

หลักของวิทยากร

หลักของวิทยากร

       มีคำถามว่า “คนพูดไม่เก่งเป็นวิทยากรได้หรือไม่” คำตอบก็คือ “ไม่จำเป็น” สิ่งที่วิทยากรจำเป็นต้องมีคือ ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่จะทำการสอน (ได้แก่ รู้รายละเอียด รู้สาเหตุ รู้สมมติฐานและประยุกต์ความรู้นั้นได้) มีความสามารถในการถ่ายทอด และมีความรู้เรื่องจิตวิทยาการสอน การถ่ายของวิทยากรส่วนใหญ่นั้นอาศัย “การพูด” เป็นหลัก คนซึ่งพูดเก่งแต่ไม่มีความรู้ ประสบการณ์ ก็ไม่อาจเรียกความศรัทธาจากผู้ฟังได้ การพูดเก่งก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าผู้เป็นวิทยากรมีความรู้ว่าควรพูดอย่างไร ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีค่ามากกว่าการพูดเก่ง

ขั้นตอนการพูดสำหรับวิทยากร

ขั้นตอนที่ ๑ การเตรียมตัว

ข้อมูลซึ่งวิทยากรควรนำมาพูด

       ๑. เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ คือต้องเป็นข้อมูลที่วิทยากรเคยใช้ เคยทดลองมาก่อนหรือเคยมีประสบการณ์มาสนับสนุน จะทำให้น่าเชื่อยิ่งขึ้น

       ๒. เป็นเรื่องใหม่ ทันสมัย

       ๓. เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ฟัง และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง



คำพูดที่วิทยากรควรหลีกเลี่ยง

      ๑. คำพูดที่ไม่สุภาพ มีความหมาย ๒ แง่ ๒ ง่าม

      ๒. คำพูดซึ่งมีความหมายคลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้หลายอย่าง

      ๓. เป็นคำพูดที่ยากต่อการเข้าใจ เช่น การใช้คำศัพท์ต่างประเทศ

      ๔. คำซึ่งสร้างความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น

            - คำตำหนิติเตียน

            - การพูดออกคำสั่ง บังคับ

            - คำด่า

            - คำพูดยกตนข่มท่าน

            - คำพูดส่อเสียดประชดประชัน

           - คำพูดดูหมิ่น

          - คำพุดคุยโม้โอ้อวด

          - คำพูดกระทบ

         - คำพูดแดกดัน

         - คำพูดสบถ

        - คำพูดเยาะเย้ย ถางถาก

        - คำพูดไม่ให้เกียรติ

        - คำพูดดูถูกเหยียดหยาม  ฯลฯ

จุดมุ่งหมายของการพูด

     จุดมุ่งหมายของการพูดแต่ละครั้งมีหลายประการ ลักษณะของการพูดแต่ละแบบมีวิธีการที่ต่างกัน วิทยากรจำเป็นต้องรู้ว่าขณะพูด ตนเองมีจุดมุ่งหมายอย่างไร
๑. พูดเพื่อถ่ายทอด
๒. พูดเพื่อจูงใจ
๓. พูดเพื่อให้บันเทิง
๔. พูดเพื่อจรรโลงใจ


ขั้นตอนที่ ๒ ขั้นพูด

วิธีการพูดแล้วมีคนฟัง

ผู้ฟังแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และลักษณะของความแตกต่างมีผลต่อการพูด

ของวิทยากร หากวิทยากรไม่รู้ถึงธรรมชาติและลักษณะของผู้ฟัง การเตรียมเนื้อหาสาระ และวิธีการพูดก็ไม่อาจผูกใจคนฟังได้ ผู้ฟังแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

       ๑. วัย วัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ (วัยผู้ใหญ่ตอนต้น วัยกลางคน และวัยสูงอายุ)

       ๒. เพศ (หญิงหรือชาย)

       ๓. ระดับการศึกษา

      ๔. อาชีพ เช่น

               - ข้าราชการ

               - พนักงานของภาคเอกชน

               - พนักงานของรัฐวิสาหกิจ

              - พ่อค้า

              - นักธุรกิจ

              - แม่บ้าน

             - เกษตรกร (ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่)

             - กรรมกร ฯลฯ

      ๕. ภูมิลำเนา

      ๖. การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว

      ๗. ตำแหน่ง

     ๘. ประสบการณ์ในชีวิต

     ๙. ความรู้ในเรื่องที่ควรพูด

     ๑๐.ทัศนคติต่อเรื่องที่พูด

ความแตกต่างในประเด็นดังกล่าวข้างตน จะมีผลต่อการรับรู้และความสามารถในการ

      สื่อสารของผู้ฟัง ความรู้เกี่ยวกับผู้ฟังข้างต้น จะช่วยให้ผู้พูดรู้ว่าควรยกตัวอย่างหรืออธิบายอย่างไร จึงจะตรงกับประสบการณ์ของผู้ฟัง ผู้ฟังนึกภาพได้ เชื่อมโยงกับความรู้เดิมได้

ความต้องการของคนฟัง

คนเราจะฟังก็ต่อเมื่อเรื่องที่ฟังเป็นประโยชน์ และตรงกับความต้องการของบุคคลนั้น เช่น เรื่องซึ่งเป็นปัญหาซึ่งอยากรู้คำตอบ หรือเป็นเรื่องที่บุคคลสามารถเอาไปใช้ได้ ทั้งหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว

ธรรมชาติของคนฟัง

คนฟังจะมีธรรมชาติ ดังนี้ คือ

      ๑. ชอบฟังเกี่ยวกับเรื่องตนเอง และเป็นเรื่องที่ตนสนใจ

      ๒. ไม่ชอบให้ใครโต้เถียง

      ๓. ไม่ชอบให้ใครตำหนิ

      ๔. ชอบการให้เกียรติ ยกย่องและยอมรับ

      ๕. ช่างสงสัย

      ๖. ชอบจับผิด (คอยฟังว่าเชื่อได้หรือไม่ เอามาจากไหน)

      ๗. จะฟังเรื่องที่ตนเองได้ประโยชน์

      ๘. ชอบฟังเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ

ผู้เป็นวิทยากรต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวทุกครั้งเมื่อทำการพูด

หลักการพูดของวิทยากร

เพชรบูรณ์ โรจนธรรมกุล กล่าวถึงหลักการพูดของวิทยากรไว้ดังนี้

    ๑. มีความชัดเจน กล่าวคือ

          - ชัดเจนในการออกเสียง

          - ชัดเจนตามอักขระภาษา

          - ชัดเจนในความหมาย

   ๒. เข้าใจง่าย

         - ด้วยการใช้ภาษาซึ่งผู้ฟังเข้าใจ

        - ใช้ตัวอย่างที่มีความสอดคล้องและเป็นรูปธรรม

   ๓. ยกย่องและให้เกียรติผู้ฟัง เป็นการแสดงออกทางการกระทำและคำพูด โดยมีการยกย่องผู้ฟัง มีความเกรงใจ ไม่พูดลดความรู้สึกลดศักดิ์ศรีของผู้ฟัง

   ๔. รักษาน้ำใจด้วยการไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง กระทบกระเทือนใจผู้ฟัง ควรใช้คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจ เห็นใจ และแสดงความเป็นพวกเดียวกัน

   ๕. ใช้คำพูดที่เพิ่มพลังด้วยการไม่ใช้คำพูดที่ซ้ำซาก จำเจ เลี่ยงคำพูดเดิมๆ มีการใช้คำพูดใหม่ๆ ที่พูดแล้วผู้ฟังมีความสนใจ และทำให้ผู้ฟังมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่พูด


การใช้สายตาในระหว่างการพูด

       ๑. กวาดสายตามองผู้ฟังอย่างทั่วถึง

       ๒. ไม่มองผู้ฟังอย่างจ้องไม่วางตา

       ๓. ไม่มองผู้ฟังด้วยหางตา

       ๔. ไม่หลบตาผู้ฟัง

      ๕. ไม่ทำตาหวาน กรุ้มกริ่ม

สิ่งที่วิทยากรควรคำนึงถึงเมื่อพูด

เมื่อพูดวิทยากรควรคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้

       ๑. เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ฟัง

       ๒. อย่าพูดเพื่อสร้างปัญหา ทุกครั้งที่พูดต้องระวังว่า พูดแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่

       ๓.ต้องคำนึงถึงศีลธรรม การพูด ๒ แง่ ๒ ง่ามเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะเป็นการลดคุณค่าของวิทยากร

       ๔. ต้องทำให้ได้อย่างที่พูด

       ๕. พูดแล้วต้องสร้างสรรค์ มิใช่พูดแล้วทำลาย

       ๖. พูดแล้วต้องเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

       ๗. ต้องนึกเสมอว่าเมื่อเราพูดแล้ว คนจะเข้าใจหรือไม่ คนฟังจะได้อะไรจากการพูดของเรา ทำไมคนฟังจึงไม่ฟัง

      ๘. น้ำเสียงที่พูด

             - นุ่มแต่ดัง ชัดเจน มีจังหวะที่เหมาะสม

             - ช้า ชัดเจน ฉาดฉาน

             - เป็นธรรมชาติ

             - มีการใช้เสียงสูง – ต่ำ ไม่ใช้เสียงเดียวตลอด

       การพูดเป็นสิ่งจำเป็นที่วิทยากรต้องรู้ เพื่อเสริมให้การถ่ายทอดและการดำเนินการสอนให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ผู้เป็นวิทยากรจำเป็นต้องเตรียมตัว เมื่อพูดก็รู้ว่าผู้ฟังคือใคร ความต้องการของคนฟัง ธรรมชาติของคนฟัง หลักการพูด พฤติกรรมขณะพูดและสิ่งที่วิทยากรควรคำนึง


ทักษะเสริมสร้างประสิทธิภาพการเป็นวิทยากร

ทักษะที่วิทยากรจำเป็นต้องรู้ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพได้แก่ ทักษะต่างๆ ดังต่อไปนี้

          ๑. การใช้วาจา กิริยาท่าทาง เพื่อเสริมบุคลิกภาพในการสอน

          ๒. การนำเข้าสู่บทเรียน

          ๓. การสรุปบทเรียน

         ๔. การแปรเปลี่ยนความสนใจ

         ๕. การอธิบายและยกตัวอย่าง

         ๖. การเสริมกำลังใจ

        ๗. การบรรยาย

       ๘. การสาธิต

       ๙. การตั้งคำถาม

       ๑๐. การใช้สื่อโสตทัศนศึกษา

ทักษะทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นสิ่งที่วิทยากรทุกคนต้องใช้ตลอดเวลา หากวิทยากรมีความรู้เรื่องดังกล่าวข้างต้น ก็จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการเป็นวิทยากรให้ดียิ่งขึ้น



๑. การใช้วาจา กิริยาท่าทาง เพื่อเสริมบุคลิกภาพในการสอน

จากงานวิจัยของชาเดอร์และอาฟพบว่า วิทยากรจะต้องมีลักษณะส่วนหนึ่งดังนี้คือ “ท่าทางดึงดูดความสนใจ อารมณ์ดี เสียงดี มีความสะอาดและเป็นระเบียบ”

วิทที (Witty) ได้ทำการวิจัยลักษณะครูที่ดีพบว่า ครูที่ดีนั้นจะต้องมีลักษณะและท่าทางดี ส่วนลักษณะของวิทยากรซึ่งผู้เรียนชอบมากที่สุด ตามงานวิจัยของฮาร์ท (Hart) เป็นอันดับ ๑๐ คือ วิทยากรที่มีบุคลิกดี

ในการฝึกอบรมหรือการสอนแต่ละครั้ง สิ่งแรกที่ผู้เรียนมีความสนใจอยากรู้คือ การปรากฏตัวของวิทยากร รูปร่างหน้าตา ท่าทางเป็นอย่างไร แต่งตัวแบบไหน ดังนั้นเรื่องของบุคลิกภาพจึงเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจ สร้างความเชื่อถือและศรัทธาให้เกิดขึ้น



บุคลิกภาพ คืออะไร

บุคลิกภาพ ตามความหมายของเบอร์นาร์ด (Bernard) หมายถึงผลรวมทั้งหมดของลักษณะทางร่างกาย พฤติกรรมตลอดจนความโน้มเอียงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และศักยภาพในการกระทำสิ่งต่างๆของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

เรื่องบุคลิกภาพจึงมิได้หมายเฉพาะสิ่งภายนอกที่มองเห็น เช่น การแต่งกาย แต่รวมไปถึงกิริยา วาจา ท่าทาง ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ฯลฯ การแสดงออกทางด้านบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียน หรือผู้พบเห็นเกิดความสนใจ นิยมศรัทธา ตลอดจนจูงใจให้อยากเรียนหรืออยากร่วมงานด้วย



ทักษะการใช้วาจา กิริยา ท่าทางประกอบการสอนได้แก่

๑. น้ำเสียง วิธีการพูด

๒. การแสดงออกทางสีหน้า สายตา

๓. การเคลื่อนไหว

๔. การใช้มือและแขน

๕. การแต่งกาย



น้ำเสียง วิธีการพูด

การสอนที่ดีวิทยากรต้องพูดเสียงดัง ฟังชัดเจน มีการเน้นเสียงและมีจังหวะในการพูด ไม่พูดเร็ว ไม่พูดด้วยน้ำเสียงในระดับเดียวกันหรือที่เรียกว่า “monotone” อาจต้องมีการใช้เสียงสูง ต่ำ ตามเนื้อหาและกาลเทศะ นอกจากนั้นจะต้องมีการออกเสียงตัว ร / ล และควบกล้ำที่ถูกต้อง เลือกภาษาที่เหมาะสมและถูกต้องตามความนิยม

น้ำเสียงของวิทยากรจะบอกถึงอารมณ์ และความรู้สึกของวิทยากรได้เป็นอย่างดี น้ำเสียงที่ใช้จึงต้องปรับให้เหมาะกับโอกาส สถานที่และวัยของผู้เรียน เช่น การพูดให้ดังขึ้นในห้องที่มีสถานที่รบกวน หรือการลดระดับเสียงให้เบาลงในห้องที่เงียบ


พฤติกรรมที่ไม่ดีของการใช้น้ำเสียง ดังนี้

- เสียงเบาเกินไป การพูดอ้อมแอ้มไม่เต็มเสียง และขาดความหนักแน่น

- พูดเสียงกระแทก ดุดัน เสียงแข็งกระด้าง หรือการตวาด

- พูดเสียงระดับเดียวกันตลอด

- พูดเร็วมากจนผู้เรียนฟังไม่ทัน

- พูดหยาบคาย ไม่สุภาพ พูดเสียดสี ประชดประชัน หรือมีการสบถเมื่อไม่สบอารมณ์

- ออกเสียงควบกล้ำตัว ร / ล ไม่ชัด

- พูดเสียงดังเกินไปจนเกือบจะเป็นตะโกน

- พูดติดๆ ขัดๆ เหมือนคนติดอ่าง พูดเสียงสั่นเครือ

- พูดไม่มีจังหวะหยุด หรือบางครั้งหยุดนานเกินไป

ฯลฯ

การแสดงออกทางสีหน้า สายตา
        การแสดงออกทางสีหน้า สายตา เป็นสื่อความหมายประเภทหนึ่ง ผู้เรียนจะอ่านความรู้สึกของวิทยากรจากพฤติกรรมดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกของวิทยากรนอกเหนือจากการสร้างบรรยากาศความอบอุ่นในห้อง หรือห้องฝึกอบรมแล้ว ยังเป็นการเสริมกำลังใจแก่ผู้เรียนด้วย การแสดงออกของวิทยากรจึงควรเป็นสภาพที่เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใสมิใช่บึ้งตึง หรือเคร่งเครียดเกินไป ในขณะที่สอนวิทยากรควรกวาดสายตาไปยังผู้เรียนทุกคน ไม่ควรจ้องเฉพาะคนใดคนหนึ่ง ยกเว้นขณะที่ผู้เรียนตอบ เมื่อตอบเสร็จวิทยากรก็ควรกวาดสายตาไปยังผู้เรียนคนอื่น


พฤติกรรมที่ไม่ดีของการแสดงออกทางสีหน้า สายตา ได้แก่

- การหลบสายตา

- การมองดูสิ่งที่มิใช่หน้าของผู้เรียน เช่น กระดาน เพดาน หลอดไฟ ฯลฯ

- การหาว การทำตาหวาน กรุ้มกริ่ม

- การแสดงสีหน้าเมินเฉย

- การเม้มริมฝีปาก

- การแสดงสีหน้ารำคาญ

- การมองด้วยหางตาตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

- การยิ้มเยาะหยันหรือทำท่าล้อเล่น

ฯลฯ

พฤติกรรมที่ควรทำ คือ การยิ้มพยักหน้ารับ เมื่อผู้เรียนตอบถูกต้อง หรือแสดงความคิดเห็นที่ดี หรือการส่ายหน้าพร้อมรอยยิ้ม เมื่อผู้เรียนตอบผิด เป็นต้น

การเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวของวิทยากรอาจจะมีหลายลักษณะ เช่น การเดินไปมา การเดินเพื่อคุมชั้นเรียน หรือผู้เรียนทำกิจกรรม นอกจากนี้ยังรวมถึงอิริยาบถต่างๆ เช่น การหยุดยืน เพื่ออธิบายหรือใช้อุปกรณ์ การฟังคำตอบของผู้เรียน ฯลฯ

การเคลื่อนไหวที่ไม่ดี ได้แก่

- การเดินไปเดินมาตลอด

- ขณะที่วิทยากรกำลังทำการสอน จุดรวมของความสนใจจะอยู่ที่วิทยากร เดินไปเดินมา ผู้เรียนจะต้องหันหน้าตามอิริยาบถของวิทยากรตลอดเวลา

- การเดินเอามือล้วงกระเป๋า หรือเคาะจังหวะตามจังหวะการเดิน รวมถึงการเขย่าสิ่งที่อยู่ในกระเป๋า

- การเขย่าขา หรือบิดมือตลอดเวลา

- การเคาะ แกะ เกาสิ่งต่างๆ

- การสะบัดผม เสยผม ปัดผม

- การเคาะ หรือหมุนปากกาเล่น หรือโยนปากกาไปที่กระดานเมื่อเขียนเสร็จ

- การขยับกางเกง หรือเสื้อผ้า

ฯลฯ

การเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถต่างๆ มีมากมาย พฤติกรรมทุกอย่างมิได้หมายความว่าจะทำไม่ได้เลย อาจทำได้บ้างแต่ต้องอยู่ระดับของความพอดี คือ ไม่มากเกินไป

พฤติกรรมที่ดีขณะทำการสอน นอกเหนือจากวิธีการที่วิทยากรจำเป็นต้องใช้ในการสอน เช่น การสาธิต ฯลฯ วิทยากรควรมีการหยุดฟังคำตอบของผู้เรียน หรือเปลี่ยนที่ยืนขณะอธิบาย หรือเดินรอบๆ ห้องขณะคุมชั้น หรือเดินใกล้ผู้เรียนเป็นบางโอกาส เป็นต้น



การใช้มือและแขน

การใช้มือและแขนของวิทยากร เป็นอิริยาบถการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าการใช้มือและแขนไม่มากเกินไป (เช่น การใช้โบกขยับแสดงท่าทางเหมือนๆ กันตลอด) การใช้มือและแขนควรพอเหมาะกับการแสดงประกอบการพูด หรือข้อความที่ต้องการจะเน้น การแสดงออกของมือ จึงต้องมีความหมายสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิด โอกาสและเรื่องที่จะพูด ลักษณะทั่วไปก็ควรปล่อยตามปกติ ไม่ควรเกร็งหรือฝืน ในกรณีซึ่งตกใจหรือประหม่า ก็อาจใช้มือแตะโต๊ะให้พอรู้สึกว่า “เรามีเพื่อน”





พฤติกรรมที่ไม่ดีของการใช้มือและแขนขณะทำการสอน ดังนี้

- การใช้มือหรือนิ้วลบข้อความบนแผ่นใสหรือกระดาน

- ตบหรือใช้ไม้ฟาดโต๊ะแรงๆ

- เขย่าปากกาตลอดเวลา

- ขว้างของไปยังผู้เรียน

- ขยับเก้าอี้ไปมาอยู่เสมอ

- เท้าเอวเมื่อไม่พอใจ

- แคะ แกะ เกา ส่วนต่างๆ ขณะทำการสอน

- หักนิ้วมือเล่น

- ถูมือไปมาขณะอธิบาย

ฯลฯ



การแต่งกาย

การแต่งกายของวิทยากรต้องสุภาพเรียบร้อยตามสมัยนิยม โดยคำนึงถึงวัย รูปร่าง และฐานะของความเป็นวิทยากร รวมไปถึงความเหมาะสมกับโอกาส และให้เกียรติผู้เรียนและสถานที่

ข้อควรพิจารณา

ในกรณีวิทยากรเป็น “เพศชาย” หากสวมเสื้อแขนยาว การพับแขนเสื้อเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ หากเป็น “สุภาพสตรี” การนุ่งกระโปรงสั้นมากๆ หรือสวมชุดที่ค่อนข้างเปิดเผย (โป้) ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน การเลือกเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง หากเป็นสีสดสะดุดตาก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจผู้เรียนเป็นอย่างดี

การแสดงออกทางวาจา กิริยาท่าทางต่างๆ การแต่งกาย ฯลฯ เมื่อรวมเป็นบุคลิกของวิทยากรแล้ว จะกล่าวได้ว่าดีหรือไม่ดี วัดได้โดยอาศัยเกณฑ์ต่างๆ ข้างต้นเป็นสำคัญ



๒. การนำเข้าสู่บทเรียน



การนำเข้าสู่บทเรียน เป็นกิจกรรมก่อนการสอนเพื่อเรียกความสนใจของผู้เรียน ต้องการให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน อยากติดตาม หากนำการนำเข้าสู่บทเรียนมาใช้แล้ว ผู้เรียนจะเกิดพฤติกรรมดังต่อไปนี้

๑. พุ่งความสนใจมายังจุดที่วิทยากรสอน

๒. เข้าใจความคิดรวบยอด (Concept) หรือหลักการใหม่ๆ

๓. เกิดความสนใจในสิ่งที่จะเรียน



การนำเข้าสู่บทเรียนควรใช้ช่วงใด

๑. เมื่อเริ่มบทเรียน

๒. เมื่อเปลี่ยนหัวข้อ (Topic)

๓. ก่อนการฉายสไลด์ ภาพยนตร์ วีดีโอ ฯลฯ



วิธีการนำเข้าสู่บทเรียน

การนำเข้าสู่บทเรียนมี ๒ ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ ๑

เมื่อผู้เรียนเริ่มเข้าห้องเรียน ก่อนจะเริ่มใช้วิธีการนำเข้าสู่บทเรียนในช่วงที่ ๑ ควรให้ผู้เรียนมีความพร้อม ซึ่งอาจทำได้โดยการหยุด ไม่พูด มองดูรอบๆ ห้องจนกว่าผู้เรียนจะพร้อม ในกรณีต้องการความรวดเร็วอาจใช้เสียงเข้าช่วยทักทายผู้เรียน



ช่วงที่ ๒

หลังจากผู้เรียนพร้อมแล้ว วิทยากรจะใช้เทคนิคต่างๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน

๑. การใช้สื่อการสอนประกอบประเภทต่างๆ เช่น สไลด์ รูปภาพ วีดีโอ ภาพยนตร์ ฯลฯ

๒. เล่านิทาน หรือเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงกับเรื่องที่จะสอนได้

๓. การแสดงละคร หรือการแสดงบทบาท

๔. การสนทนาซักถาม

๕. การทบทวนบทเรียนเก่า หรือประสบการณ์เดิม

๖.ให้ผู้เรียนทำกิจกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กับหัวข้อ เช่น การแสดงวิธีผายปอด วิธีการเย็บแผล ฯลฯ

ทั้งนี้วิธีการที่ใช้ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ และเนื้อหาของบทเรียน



ข้อเสนอแนะสำหรับการฝึกทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน

การเลือกใช้วิธีการนำเข้าสู่บทเรียนแบบใดนั้น ควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้

๑. ประสบการณ์เดิมหรือความรู้เดิมของผู้เรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความรู้เรื่องนั้นแล้ว ความสนใจอาจไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น หรือถ้าไม่มีประสบการณ์เลย การเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่จะสอนอาจจะทำได้ยาก

๒. ศึกษาเนื้อเรื่องที่จะสอน และเลือกกิจกรรมให้มีการผสมผสานกันให้ดีที่สุด

๓. ศึกษากิจกรรมที่นำมาใช้อย่างถ่องแท้ เช่นถ้าเป็นโสตทัศนูปกรณ์ ควรศึกษาข้อจำกัดและเทคนิคของอุปกรณ์นั้นๆ หรือถ้าเป็นการเล่านิทาน ต้องมีวิธีการเล่าที่สนุกสนานน่าสนใจและน่าติดตามชม

๔. สำรวจความถนัดของวิทยากรว่ามีความถนัดด้านใด แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การร้องเพลง ฯลฯ ไม่ควรลอกเลียนแบบผู้อื่น ถ้าวิธีการนั้นไม่สามารถจะทำได้ดี



๓. การสรุปบทเรียน

การสรุปเป็นการกระทำที่คู่กับการนำเข้าสู่บทเรียน ซึ่งอาจใช้เมื่อ

๑. จบบทเรียน

๒. จบหัวข้อ

๓. เรื่องที่สนใจเฉพาะ

๔. กลางบทเรียนที่เหมาะสม

๕. หลังจบการอภิปราย



วัตถุประสงค์ของการสรุป

๑. รวบรวมความสนใจของผู้เรียนในสิ่งที่เรียนมาแล้ว

๒. สรุปสิ่งที่เรียนมาแล้ว

๓. ดูความเข้าใจของผู้เรียน

การสรุปนี้มีความละเอียดมากกว่าการย่อความ มีเนื้อหามากกว่า และต้องมีการโยงให้สัมพันธ์กับเหตุการณ์และสภาพที่เป็นอยู่


วิธีการสรุป

วิธีการสรุปทำได้หลายวิธี คือ

๑. โดยวิธีการตั้งคำถาม การใช้คำถามในขั้นนี้เป็นการกล่าวรวบรวมหรือสรุปหลักเกณฑ์กับข้อเท็จจริง หรือแนวคิดที่สำคัญ

๒. ให้ผู้เรียนทำกิจกรรม

๓. สร้างสถานการณ์ หมายถึงการแสดงละคร การสาธิต การแสดงบทบาท การสร้างสถานการณ์จำลอง

๔. ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมกับสิ่งที่เพิ่งเรียนจบ และสิ่งที่เรียนต่อไปในอนาคต

๕. ให้สาธิตในสิ่งที่เรียนไป  ฯลฯ

การสรุปจะได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้าผู้สรุปคือผู้เรียนและวิทยากรเสริมหรือเพิ่มในส่วนที่ขาดไป

๔. การแปรเปลี่ยนความสนใจ

โดยทั่วไปการที่เราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี เรามักต้องให้ความสนใจอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง และตัดสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป วิทยากรจำเป็นต้องมีทักษะในการช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิในสิ่งที่ทำอยู่ ความสนใจของคนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ เป็นการยากที่คนเราจะสนใจสิ่งเดียวเกินกว่า ๒ – ๓ ชั่วโมง เช่นการฟังการบรรยายที่ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง มีน้อยคนที่จะมีสมาธิฟังอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งอาจคิดถึงสิ่งอื่น หรือมองดูคนอื่นในห้อง หรือนั่งวาดรูปเล่น ฯลฯ วิทยากรจำเป็นต้องรู้เทคนิคที่จะให้ผู้เรียนสนใจกับสิ่งที่เรียน จากการค้นคว้าทางจิตวิทยาของนักวิชาการพบว่า สิ่งที่ทำให้คนเราสนใจได้แก่

๑. ความเข้มข้น (Intensity) เช่น เสียงยิ่งดัง แสงสว่างยิ่งสว่าง ยิ่งดูดความสนใจได้มาก

๒. ความแตกต่าง (Contrast) สิ่งใดก็ตามที่ใหญ่หรือแปลกไปจากสิ่งรอบตัว ย่อมดึงดูดความสนใจได้ เช่น ปิดไฟให้มืด เร่งเสียงให้ดัง หรือพูดเสียงดัง

๓. การเคลื่อนไหว (Movement) สายตาของเรามักจะมองสิ่งที่เคลื่อนไหว เช่น การเดินของวิทยากร

๔. กิจกรรมที่ทำด้วยตนเอง (Self – activity) เช่น ปรบมือ ให้ยืน ให้เดินออกกำลังกาย ฯลฯ



วิธีการซึ่งทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนความสนใจ

๑. การเคลื่อนไหวของวิทยากร เช่น การเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

๒. ท่าทางของวิทยากร หมายถึงการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเน้นความสำคัญ เพื่อแสดงอารมณ์ เพื่อบอกขนาด รูปร่าง

๓. การเปลี่ยนวิธีพูด หมายถึงการเปลี่ยนวิธีพูดอย่างกะทันหัน ได้แก่การเปลี่ยนน้ำเสียง เปลี่ยนความดังของเสียง หรือเปลี่ยนจังหวะการพูด

๔. การเปลี่ยนจุดประสาทสัมผัส เช่น จากการฟังเป็นการดู จากการอ่านเป็นการเขียน จากการฟังอภิปรายเป็นการลงมือทำ จากการดูกระดานเป็นการดูสไลด์ จากการฟังวิทยากรพูดเป็นการฟังจากเทป

๕. การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมพูด เช่น ออกมารายงานหน้าชั้น

๖. การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรม เช่น การแสดงละคร ฯลฯ

๗. การใช้อุปกรณ์ เช่น วีดีโอ หรือเทป

๘. การแสดงท่าทางประกอบ

๙. การเล่าเรื่องสั้น

๑๐.การตั้งปัญหาและการซักถาม

๑๑.การแสดงบทบาท

๑๒. การเล่นเกม

๑๓.การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน

๑๔.การให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น

๑๕.การให้ออกมาร่วมสาธิต

การใช้วิธีการแปรเปลี่ยนความสนใจ อาจใช้หลายๆ วิธีก็ได้ในการสอนครั้งเดียว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ต้องให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของการสอนแต่ละขั้นตอน



๕. การอธิบายยกตัวอย่าง

การอธิบายเป็นทักษะที่มีความจำเป็นในการสอน เพราะเป็นการสื่อความหมายระหว่างผู้เรียนกับวิทยากรให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน การอธิบายความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรมนั้น มักทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ยาก สิ่งที่น่าจะช่วยคือต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม โดยอาศัยการยกตัวอย่าง ด้วยเหตุนี้การยกตัวอย่างจึงเป็นเรื่องหนึ่งในกระบวนการอธิบายที่จะเสริมหรือช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้น



การอธิบายที่ดีมีลักษณะอย่างไร

๑. ใช้ภาษาง่ายๆ กะทัดรัด

๒. ให้ความหมายชัดเจน น่าสนใจและครอบคลุมความสำคัญ

๓. บุคลิกภาพของผู้อธิบาย ต้องเป็นผู้ยิ้มแย้ม มีความเป็นกันเองกับผู้เรียน เป็นผู้มีความรู้ดี มีความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่จะอธิบาย

๔. วิทยากรต้องรู้ระดับของผู้ฟัง เพื่อจะได้ใช้คำอธิบายและภาษาได้เหมาะสม

๕. การจัดลำดับเรื่องที่จะอธิบาย โดยวางโครงเรื่องที่จะอธิบายไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ตอนใดควรย้ำหรือเน้น หรือมีการสรุปเป็นช่วงๆ

๖. การอธิบายต้องคำนึงถึงระดับเสียง การเว้นระยะความเร็ว



วิธีการอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

วิธีการอธิบายและยกตัวอย่างประกอบนั้น เพื่อขยายสาระให้กระจ่างขึ้นอาจทำได้ ๒ วิธีคือ

๑. แบบนิรนัย (Deductive) หรือแบบกฎสู่ตัวอย่าง

๒. แบบอุปนัย (Inducitive) หรือแบบตัวอย่างสู่กฎ







แบบกฎสู่ตัวอย่าง

มีวิธีการดังนี้ คือ

๑. บอกกฎ ข้อคิด หรือหลักเกณฑ์ก่อน

๒. ยกตัวอย่างที่จะแสดง หรือขยายหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น

วิทยากร “หญ้าทุกแห่งเป็นสีเขียว ให้ยกตัวอย่างมาคนละ ๑ อย่าง”

ผู้เรียน “หญ้าที่ขึ้นข้างโรงงานเป็นสีเขียว

หญ้าที่บ้านดิฉันเป็นสีเขียว

หญ้าที่ขึ้นข้างหน้าต่างนี้สีเขียว”



แบบตัวอย่างสู่กฎ

มีขั้นตอน ดังนี้คือ

๑.วิทยากรยกตัวอย่างมาอภิปรายร่วมกับผู้เรียน โดยเริ่มจากตัวอย่างที่ง่ายไปหาตัวอย่างที่ยากขึ้น

๒. เมื่อถึงเวลาที่สมควร คิดว่าผู้เรียนพอจะเข้าใจ วิทยากรจะให้ผู้เรียนสรุปเป็นกฎเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น

วิทยากร “หญ้าที่ขึ้นนอกหน้าต่างนี้สีเขียว หญ้าที่ขึ้นในโรงงานก็สีเขียว

หญ้าในสนามหญ้าที่บ้านนี้ก็สีเขียวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพวกเราคิดว่า ควรจะพูดสรุปเกี่ยวกับหญ้าได้อย่างไร ?”

ผู้เรียน “สรุปได้ว่าหญ้าทุกแห่งเป็นสีเขียว”

การเลือกใช้วิธีใดนั้น เราต้องพิจารณาว่าวิธีไหนง่ายที่สุดสำหรับวิทยากร วิธีไหนจะท้าทายความสนใจของผู้เรียนได้มากกว่า



การนำตัวอย่างมาขยายคำอธิบาย

การนำตัวอย่างมาขยายคำอธิบายของผู้เรียนนั้น สิ่งที่นำมาอาจจะมีได้หลายอย่างคือ

๑. ใช้ถ้อยคำวาจา

ได้แก่คำพังเพย โคลงกลอน สุภาษิต คำขวัญ คติพจน์ นิทาน การเล่าเรื่อง ตลอดจนบทเพลงต่างๆที่มีความหมาย หรือเปรียบเทียบได้กับนามธรรมหรือสิ่งที่ต้องการจะอธิบาย ข้อความที่ยกมาเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสาระสำคัญเด่นชัดขึ้น เช่น

- เครื่องปั้มกับการทำงานของหัวใจ

- กระดองปูกับรถถัง

- การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนกับปิดทองหลังพระ ฯลฯ

๒. ใช้กิจกรรม

ได้แก่การให้ผู้เรียนได้ฝึกทดลองทำ สาธิตหรือใช้การแสดงบทบาท หรือใช้การจำลองสถานการณ์ต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้เป็นการช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจชัดเจนได้ โดยใช้การกระทำของตน ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่นการฝึกเป็นวิทยากร การสาธิตหรือการให้ผู้เรียนลองปฏิบัติ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีกว่าการอธิบายเพียงอย่างเดียว และได้เกิดทักษะจากการลองฝึกปฏิบัติด้วย

๓. ใช้อุปกรณ์

การใช้อุปกรณ์ประกอบคำอธิบายจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ถูกต้อง รวดเร็วขึ้น อุปกรณ์มีทั้งของจริง ของจำลอง และโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เมื่อผู้เรียนได้เห็น ได้สัมผัส ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ



การเลือกตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

๑. น่าสนใจ

๒. ง่ายแก่การเข้าใจ

๓. สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

๔. เหมาะกับพื้นฐานความรู้ และความสนใจของผู้เรียน



ข้อควรระวังในการยกตัวอย่าง

๑. การยกตัวอย่างมากเกินไป อาจทำให้ผู้เรียนมีความสับสน

๒. ควรมีการโยงตัวอย่างให้เข้ากับสาระสำคัญ



๖. การเสริมกำลังใจ

การเสริมกำลังใจเป็นพฤติกรรมที่วิทยากรสนองตอบผู้เรียน ในรูปของการตอบด้วยวาจา การเขียนหรือการสัมผัส จัดเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการสอน เพราะการเสริมกำลังใจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียน การเสริมกำลังใจอาจแบ่งได้ ๓ ประเภท

๑. การเสริมกำลังใจที่พึงปรารถนา เช่น การยอมรับความคิดเห็นของผู้เรียน โดยอาจแสดงออกในรูปแบบของการชม การปรบมือ ฯลฯ

๒. การเสริมกำลังใจที่มีปฏิกิริยาเป็นกลาง เช่น การตอบคำว่า“ถูก” “เห็นด้วย” ด้วยน้ำเสียงกลางๆ ไม่มีการเน้น

๓. การเสริมกำลังใจชนิดที่ไม่พึงปรารถนา เช่น การไม่ยอมรับความคิดเห็น

การเสริมกำลังใจแต่ละประเภท จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนต่างกัน วิทยากรควรพยายามใช้การเสริมกำลังใจในการสอน โดยการปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้เรียน จังหวะและโอกาส อาจกล่าวได้ว่าหากมีการใช้การเสริมกำลังใจถูกต้อง ผู้เรียนจะสนใจบทเรียนมากขึ้น มีความมั่นใจและกล้าแสดงออก หรืออาจเกิดแรงจูงใจที่จะค้นหาความรู้ยิ่งขึ้น



วิธีการเสริมกำลังใจ

วิธีการเสริมกำลังใจที่อาจนำมาใช้ในการสอน หรือการฝึกอบรมได้แก่

๑. การเสริมกำลังใจด้วยวาจา เช่น การกล่าวว่าดี ดีมาก ใช้ได้ ถูกต้อง เป็นความคิดที่เฉียบแหลม ฯลฯ

๒. การเสริมกำลังใจด้วยท่าทาง เช่น การยิ้ม การพยักหน้า การใช้สายตาแสดงความสนใจในคำตอบ การปรบมือ ฯลฯ

๓. การเสริมกำลังใจด้วยการให้รางวัลหรือสัญลักษณ์ เช่น การให้สิ่งของเมื่อผู้เรียนตอบถูกต้อง การเขียนเครื่องหมาย เช่น รูปดาว พร้อมคำชมเชย การจารึกชื่อบนฝาผนัง การนำผลงานของผู้เข้ารับการอบรมมาแสดงเป็นตัวอย่าง เป็นต้น



การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอน

การนำการเสริมกำลังใจมาใช้ในการเรียนการสอนอาจทำได้ ดังนี้

๑. เสริมกำลังใจในจังหวะที่เหมาะสม เช่น เมื่อผู้เรียนตอบถูกก็ชมทันที

๒. ไม่พูดเกินความจริง มิฉะนั้นผู้ฟังจะขาดความศรัทธา เช่น เมื่อผู้เรียนตอบถูกทั้งหมดก็อาจชมว่า “เก่งมากๆ” “เก่งจริงๆ” แต่ถ้าผู้เรียนตอบถูกเป็นบางส่วน ก็ชมเชยเฉพาะส่วนที่ถูก พร้อมทั้งแนะนำส่วนที่ผิด

๓. ใช้วิธีในการเสริมกำลังใจหลายๆ วิธี ไม่ใช่พูดคำที่ซ้ำซาก จำเจกับผู้เรียนทุกคน

๔. ไม่ควรเสริมกำลังใจบางประเภทบ่อยเกินไป เช่น การให้รางวัล เพราะจะทำให้ผู้เรียนไม่เห็นคุณค่าของการเสริมกำลังใจนั้น

๕. พยายามหาโอกาสเสริมกำลังใจให้ทั่วถึงกัน (ไม่จำเป็นต้องเสริมในชั่วโมงเดียวกัน) โดยใช้วิธีการเสริมกำลังใจต่างกัน และในโอกาสต่างๆ กัน

๖. การเสริมกำลังใจควรเป็นไปในทางบวกมากกว่าทางลบ

๗. การเสริมกำลังใจไม่ควรมาจากวิทยากรเพียงคนเดียว ควรใช้สิ่งแวดล้อมช่วยด้วย เช่น ให้ผู้เรียนคนอื่นปรบมือ

๘. เสริมกำลังใจด้วยท่าทีที่จริงจัง อาจต้องใช้วาจาและท่าทางประกอบด้วย









ข้อควรพิจารณาเมื่อใช้การเสริมกำลังใจ

๑. ผู้เรียนควรได้รับการเสริมกำลังใจทันที เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการเรียนการสอน

๒. ควรเลือกวิธีการเสริมกำลังใจให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน

๓. การทำโทษ โดยทั่วไปไม่ใช่เป็นการเสริมกำลังใจที่พึงปรารถนา แต่ใช้เมื่อต้องการกำจัดพฤติกรรมนั้นๆ

๔. การเสริมกำลังใจมีลักษณะพิเศษ คน ๒ คนซึ่งได้รับการเสริมกำลังใจที่เหมือนกัน ผู้เรียนคนหนึ่งอาจเห็นว่าการเสริมกำลังใจนั้นเป็นสิ่งไม่มีค่าก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ได้รับการเสริมกำลังใจ

๕. การเสริมกำลังของวิทยากรอย่างแข็งขัน รวมทั้งการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา จะมีผลดีกว่าการเสริมกำลังใจแบบเฉื่อยชา และการอ้อมค้อม ไม่ตรงประเด็น

๖. การเสริมกำลังใจเป็นการช่วยให้ผู้ได้รับการเสริมแรง ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของตน หรือทราบว่าสิ่งที่ตนแสดงไปนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นการเสริมแรงจึงอาจใช้เป็นเครื่องช่วยแก้ไขพฤติกรรมได้

๗. การเสริมกำลังใจในทางลบโดยการลงโทษ มิได้เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่พึงปรารถนาได้เสมอไป แต่อาจทำให้ผู้เรียนหยุดแสดงพฤติกรรมนั้นชั่วขณะ เมื่อวิทยากรจำเป็นต้องใช้การลงโทษ วิทยากรควรบอกให้ผู้เรียนทราบถึงพฤติกรรมที่ต้องการ เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่วิทยากรต้องการ วิทยากรก็ควรเสริมกำลังใจผู้เรียนทันที

๘. เมื่อผู้เรียนไม่สามารถแสดงพฤติกรรมที่วิทยากรต้องการได้ แต่ได้แสดงพฤติกรรมใกล้เคียง วิทยากรควรให้การเสริมกำลังใจเพื่อให้ผู้เรียนนั้นมีกำลังใจ และมีความพยายามมากขึ้น ในที่สุดผู้เรียนอาจจะแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้สำเร็จ

๙. การเสริมกำลังใจควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างมีระบบและมีระเบียบ

๑๐. ผู้เรียนที่เรียนเก่งอาจไม่ต้องการคำชม หรือความช่วยเหลือจากวิทยากรมากเท่ากับผู้เรียนที่เรียนอ่อน ยิ่งมีอายุน้อยเท่าใด ย่อมต้องการเสริมกำลังใจมากขึ้นเพียงนั้น

๑๑. พฤติกรรมการเสริมกำลังใจที่เป็นกลางๆ ของวิทยากร หากทำบ่อยๆ ผลอาจเป็นลบได้ จะทำให้ผู้เรียนหมดกำลังใจ

กล่าวโดยสรุป คือการเสริมกำลังใจมีมากมายหลายอย่าง วิทยากรจำเป็นต้องดูความเหมาะสมก่อนพิจารณาเลือกใช้ จึงจะบังเกิดผลตรงกับความต้องการมากที่สุด









๗. การบรรยาย

การบรรยาย (Lecture) หมายถึงวิธีที่วิทยากรเป็นผู้พูด บอกเล่าหรืออธิบายเนื้อหาแก่ผู้เรียน วิทยากรเป็นผู้เตรียมการค้นคว้าในเรื่องที่จะสอนมาเป็นอย่างดี ผู้เรียนเป็นผู้รับการถ่ายทอด โดยการจดบันทึกหรือท่องจำ การสอนโดยการบรรยายตามความหมายดั้งเดิม หมายถึงวิทยากรเป็นผู้พูดตลอด ผู้เรียนมิได้มีส่วนร่วม ต่อมาได้มีการประยุกต์ใช้วิธีการสอนแบบอื่นๆ เข้ามาร่วม เพื่อให้การบรรยายน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น การถาม – ตอบ การแสดงบทบาท การใช้สื่อการสอน การทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น ฯลฯ

วิธีการบรรยายนี้จัดว่ามีข้อดี คือสามารถสอนได้จำนวนมาก โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เรียน สามารถปลูกฝังแนวความคิดและเจตคติที่พึงปรารถนาได้ แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้นมีหลายประการ เช่น วิทยากรไม่ทราบผลว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่ ผู้เรียนไม่มีโอกาสแสดงออก อาจเบื่อหน่ายง่าย และเป็นการยากที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจ ติดตามวิธีการสอนแบบนี้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามการสอนแบบบรรยาย เป็นวิธีการสอนที่คนทั่วไปนิยมมากวิธีหนึ่ง หากผู้เป็นวิทยากรมีความสามารถในการบรรยาย รู้จักปรับปรุงวิธีการบรรยายให้น่าสนใจ ผลที่เกิดขึ้นจะพบว่าวิธีการสอนแบบบรรยายก่อให้เกิดการเรียนรู้เป็นอย่างมากในตัวผู้เรียน



วิธีการสอนแบบบรรยายให้ได้ผลจะทำอย่างไร

๑. ควรมีการบอกวัตถุประสงค์ และขอบเขตของเนื้อเรื่องที่จะบรรยาย

๒. มีการใช้น้ำเสียงและท่าทางที่เร้าความสนใจ ควรมีการเปลี่ยนระดับเสียง ไม่ใช้ระดับเสียงเดียวกันตลอดเวลาที่พูด

๓. มีการเน้นจุดที่สำคัญ

๔. วิทยากรควรมีการเคลื่อนไหว เพื่อผู้เรียนจะได้เห็นชัดและดึงดูดความสนใจของผู้เรียน

๕. วิทยากรควรมีบุคลิกที่มั่นใจในตัวเอง

๖. มีการเขียนความคิดรวบยอดที่สำคัญบนกระดานหรือแผ่นใส

๗. มีการจัดลำดับการพูด โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือช่วงที่ ๑ เป็นช่วงการกล่าวนำเพื่อกระตุ้นความสนใจ ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงเนื้อหา และช่วงที่ ๓ เป็นช่วงสรุป

๘. มีการใช้คำถามที่ถามโดยไม่มุ่งหวังการตอบ แต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนติดตาม และเป็นการเร้าความสนใจ

๙. มีการใช้โสตทัศนูปกรณ์ประกอบการสอน เช่น แผนภูมิ สไลด์ วีดีโอ ฯลฯ เป็นการดึงดูดความสนใจ

๑๐. ใช้วิธีการอื่นเพื่อให้การบรรยายน่าสนใจ เช่น การสาธิต การอภิปรายเป็นกลุ่ม เป็นต้น



๘. การสาธิต

การสาธิต คือวิธีการที่วิทยากรแสดงหรือทดลอง และอธิบายไปพร้อมๆ กัน ผู้เรียนเป็นผู้ดู ผู้ฟัง พร้อมทั้งจดบันทึกตามที่วิทยากรแสดง ทดลอง หรืออธิบาย วิธีการสาธิตเป็นการแสดงหรือกระทำ เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นและได้เข้าใจอย่างชัดเจน อาจเป็นการแสดงโดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือ วิธีการสาธิตอาจทำได้หลายวิธี ดังนี้

๑. วิทยากรเป็นผู้สาธิต

๒. วิทยากรและผู้เรียนร่วมกันสาธิต โดยมีผู้เรียนเป็นผู้ช่วย

๓. ผู้เรียนทั้งกลุ่มเป็นผู้สาธิต

๔. ผู้เรียนคนเดียวเป็นผู้สาธิต

๕. วิทยากรภายนอกเป็นผู้สาธิต



การเตรียมการสอนแบบสาธิต

เนื่องจากการสาธิตเป็นวิธีการที่ผู้เรียนต้องได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสฯลฯ ดังนั้นถ้าผู้เรียนมีจำนวนมากเกินไป อาจทำให้ผู้เรียนบางคนไม่เห็นหรือได้ยิน ดังนั้น การเตรียมการสอน อาจต้องเตรียมการถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดเข้ามาช่วย หรือผู้สอนต้องมั่นใจว่าผู้เรียนทั้งหมดมองเห็นการสาธิตได้ง่ายและชัดเจน การสาธิตจะเหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก





การสอนแบบสาธิต มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้



วิทยากร ผู้เรียน

๑.บอกวัตถุประสงค์ของการสาธิต ๑. รับทราบวัตถุประสงค์

๒. สาธิตการปฏิบัติที่ถูกต้อง ๒. สังเกตการปฏิบัติ

๓. แนะให้คิดตามลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ๓. ติดตามลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ

๔. จัดให้มีการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ๔. ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง

๕. ให้ข้อติชมที่เหมาะสม ๕. แก้ไขข้อผิดพลาดและทำซ้ำใหม่

๖. เสริมสร้างให้ผู้เรียนมีการประเมินผล การปฏิบัติด้วยตนเอง ๖. ประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง









ข้อควรคำนึงในการสอนแบบสาธิต

๑. วิทยากรต้องมีความพร้อม เช่น มีความรู้ในเรื่องที่สาธิตและการอธิบายต้องผสมกลมกลืนกัน มีอุปกรณ์ครบถ้วนและพร้อมที่จะปฏิบัติ

๒. วิทยากรต้องมีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือเป็นอย่างดี

๓. วิทยากรต้องจัดเครื่องมือ หรือวัสดุต่างๆ ไว้ให้เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ และควรทดสอบดูว่าเครื่องมือหรือวัสดุต่างๆ เหล่านั้นอยู่ในสภาพที่ใช้ได้

๔. ควรระวังอย่าใช้เวลาในการสาธิตมาก จนผู้เรียนไม่มีเวลาปฏิบัติ

๕. การสาธิตในวิชาที่ให้เกิดแนวคิดหรือความคิดริเริ่ม เช่น การพูด การเขียน การขับร้อง ฯลฯ ควรสาธิตเฉพาะเทคนิคการปฏิบัติ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยควรให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

๖. วิทยากรควรบอกวัตถุประสงค์ของการสาธิตให้ผู้เรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนติดตามได้อย่างถูกต้อง

๗. การสาธิตต้องมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย

๘. วิทยากรไม่ควรบอกผลที่จะเกิดขึ้นก่อน แต่ควรให้ผู้เรียนสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง เพื่อเป็นการเร้าใจให้ผู้เรียนติดตามโดยตลอด

๙. วิทยากรควรคำนึงเรื่องเวลาที่ใช้ในการสาธิต โดยไม่มีการเร่งเวลาขณะสาธิต ควรทำเป็นลำดับขั้นตอน และมั่นใจว่าการสาธิตจะได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

๑๐. วิทยากรสาธิตอย่างมีชีวิตชีวาทั้งน้ำเสียง และท่าทางที่เร้าความสนใจ

๑๑. วิทยากรควรเน้นจุดสำคัญของเนื้อเรื่องที่ทำการสาธิต

๑๒. พยายามสังเกตสีหน้าของผู้เรียนว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร เช่น ไม่เข้าใจ ไม่ตั้งใจ วิทยากรควรพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

๑๓. วิทยากรต้องมีความสามารถนำผลจากการสาธิต โยงให้สัมพันธ์กับบทเรียนที่จะสอน

๑๔. ต้องเข้าใจว่าผู้เรียนมีความสามารถและทักษะในการเรียนรู้แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เรียนทุกคนจึงไม่อาจเกิดการเรียนรู้ในเวลาเดียวกัน



๙. การสอนโดยใช้คำถาม

การสอนด้วยวิธีการใช้คำถาม เป็นวิธีการที่เก่าแก่และใช้กันทั่วไป การสอนเกือบทุกวิธีการจะมีการตั้งคำถามแทรกอยู่ อาจกล่าวได้ว่าคำถามเป็นเครื่องมือประจำตัวที่ใช้ในการสอนของวิทยากรทุกคน ถ้าวิทยากรสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม และรู้จักสร้างเครื่องมือให้มีคุณภาพดี ก็จะทำให้การสอนประสบความสำเร็จ



ประเภทของคำถาม



ประเภทของคำถามจำแนกออกเป็น ๒๒ ชนิด คือ

๑. คำถามเพื่อวัดความจำ

๒. คำถามเพื่อจัดลำดับความจำ

๓. คำถามเพื่อเปรียบเทียบ

๔. คำถามเพื่อบอกความแตกต่าง

๕. คำถามเพื่อประมวลผล

๖. คำถามเพื่อหาสาเหตุ

๗. คำถามเพื่อถามผล

๘. คำถามเพื่อให้แสดงโดยใช้ภาพประกอบ

๙. คำถามเพื่อจัดกลุ่ม

๑๐. คำถามเพื่อสรุป

๑๑. คำถามเพื่อให้คำจำกัดความ

๑๒. คำถามเพื่อพิสูจน์

๑๓. คำถามเพื่อบรรยาย

๑๔. คำถามเพื่อแสดงลักษณะ

๑๕. คำถามเพื่อบอกความสัมพันธ์

๑๖. คำถามเพื่อเล่าเรื่องย่อ

๑๗. คำถามเพื่อวิจารณ์

๑๘. คำถามเพื่อการนำไปใช้

๑๙. คำถามเพื่อให้รวบรวม

๒๐. คำถามเพื่อให้เลือก

๒๑. คำถามเพื่อวิเคราะห์

๒๒. คำถามเพื่อสังเคราะห์



วัตถุประสงค์ในการถามคำถาม

๑. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน

๒. ทดสอบความเข้าใจของผู้เรียน

๓. ทำให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน

๔. ทดสอบความรู้ของผู้เรียน

๕. ดูจุดอ่อน จุดแข็งของผู้เรียน

๖. เริ่มต้นการอภิปราย หรือวิธีการสอนแบบอื่น

๗. ให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจที่สามารถตอบถูก

๘. ฝึกให้รู้จักอภิปรายปัญหา

๙. ดูการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน

๑๐. ทบทวน

๑๑. กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากรู้

๑๒. วัดผลการสอนของวิทยากร

๑๓. ดึงความสนใจของผู้เรียนกลับมา



ลักษณะของคำถามที่ดี

เยาคามและซิมซัน (Gerald A. Yoakam and Robert G. simpson) ได้ให้ลักษณะของคำถามที่ดีไว้ดังนี้

๑. ชัดแจ้ง ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แม้ว่าตนเองจะไม่ทราบคำตอบ แต่ผู้เรียนเข้าใจว่าผู้ถามต้องการถามอะไร เช่น “ใครเป็นกษัตริย์ของอังกฤษ ?” จัดเป็นคำถามที่ดี แต่ถ้าถามว่า “ใครเป็นกษัตริย์” จะเป็นคำถามที่ไม่ชัดแจ้ง

๒. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายต่อการเข้าใจ ไม่เกินที่ผู้ตอบในวัยนั้นจะเข้าใจ

๓. ท้าทาย เป็นคำถามที่เร้าและกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด เช่น “การที่รัฐบาลจะขายรัฐวิสาหกิจให้กับต่างประเทศ พวกเราคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ ?”

๔. เป็นคำถามที่แน่นอน ที่ต้องการคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นคำถามที่เป็นปัญหาโลกแตก เช่น “ท่านคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ ?”

๕. เฉพาะเจาะจง คำถามที่ดีต้องการคำตอบที่เฉพาะเจาะจง มากกว่าคำตอบทั่วๆ ไป



ข้อควรคำนึงในการถาม

คันนิ่งแฮม (Cunningham) ได้เสนอแนะว่าในการใช้คำถาม วิทยากรควรหลีกเลี่ยงคำถามดังต่อไปนี้

๑. การตั้งคำถามที่สับสน ซึ่งรวมหลายๆ ความคิดเข้าด้วยกัน

๒. คำถามที่ป้อนคำตอบ ซึ่งแนะนำแนวทางให้ผู้ตอบมากเกินไป

๓. คำถามคลุมเครือ ซึ่งขาดหลักเกณฑ์ที่จะนำมาตอบคำถามได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ตอบเดาคำตอบ

๔. คำถามใช่ – ไม่ใช่ ซึ่งผู้ตอบจะตอบเพียงใช่ - ไม่ใช่เท่านั้น

การสอนโดยการใช้คำถาม เป็นวิธีการที่แทรกปะปนกับวิธีการสอนแบบอื่นๆ เช่น การสอนแบบสืบสวนสอบสวน การสอนแบบบรรยาย การสอนแบบสาธิต ฯลฯ ทุกวิชา ทุกสาขา ต้องมีการสอนแบบใช้คำถาม กลวิธีการใช้การสอนแบบนี้ อาจทำได้ทั้งการนำเข้าสู่บทเรียน การสรุปบทเรียน การดำเนินการสอน และการเร้าความสนใจ ประสิทธิผลในการสอนแบบนี้ ขึ้นอยู่กับวิทยากรมีความสามารถในการตั้งคำถามได้ดีเพียงใดเป็นประการสำคัญ



๑๐. การใช้สื่อ โสตทัศนูปกรณ์

อุปกรณ์ต่างๆ เช่นรูปภาพ สไลด์ วีดีโอ เทปบันทึกเสียง คอมพิวเตอร์ มีส่วนทำให้งานของวิทยากรง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีคำถามว่าในการบรรยายของวิทยากรทุกครั้ง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือไม่



วิทยากรควรใช้อุปกรณ์ประกอบการบรรยายเมื่อไร

วิทยากรจะใช้อุปกรณ์ประกอบการบรรยายเมื่อ

๑. ต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจได้มากขึ้น

๒. เรื่องที่พูดชัดเจนขึ้น

๓. เมื่ออุปกรณ์นั้นสร้างความสนใจและดึงดูดความสนใจ

๔. ประหยัดเวลาในการบรรยาย

๕. เวทีหรือสถานที่เหมาะสมที่จะใช้อุปกรณ์

๖. คุ้มค่ากับเวลา เงิน และความพยายามในการลงมือจัดทำ

๗. อุปกรณ์นั้นสอดคล้องกับเรื่องที่พูด

๘. ให้จำง่ายและก่อให้เกิดแนวคิดในสิ่งที่เรียน



วิธีการเลือกอุปกรณ์ประกอบการบรรยาย

วิธีการเลือกอุปกรณ์ประกอบการบรรยายมีดังต่อไปนี้

๑. มีขนาดพอเหมาะกับจำนวนผู้เรียน เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อฉายวีดีโอที่มีขนาดใหญ่ หรือมีเครื่องฉาย วีดีโอโปรเจคเตอร์ฉายขึ้นจอใหญ่ ทำให้ทุกคนเห็นได้ชัด

๒. จำนวนพอเพียงกับผู้เรียน หรือผู้เรียนมีโอกาสหมุนเวียนทดลองใช้อย่างทั่วถึง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือประกอบการฝึกหัด

๓. สภาพของอุปกรณ์อยู่ในสภาพซึ่งใช้งานได้ดี เช่น ภาพของวีดีโอควรชัดเจน ไม่พร่ามัว