วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องเมืองบางยางและเมืองราด

เรื่องเมืองบางยางและเมืองราด


เรื่องเมืองสำคัญที่ปรากฏในจารึก คือ เมืองบางยาง (ของขุนบางกลาวหาว) กับเมืองราด (ของขุนผาเมือง)นั้นตั้งอยู่ที่ใด ผู้ครองเมืองทั้งสองเมืองนี้ ครองเมืองก่อนที่จะทำการชิงอำนาจ จากขอมสบาดโขลญลำพง ได้สำเร็จและสามารถตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น เป็นเมืองสำคัญที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

เมืองบางยาง นั้นเชื่อกันมาแต่แรกว่า เมืองนครไทย ปัจจุบันคืออำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองเก่า อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ และอยู่ทางทิศตะวันตก เฉียงเหนือของอำเภอหล่มเก่า

จ.เพชรบูรณ์

สำหรับเมืองราดนั้น ได้มีการศึกษาที่เชื่อว่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อำเภอท่าปลาเรือ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล ในครั้งแรกนั้นมีชื่อสันนิษฐานว่าเมืองราด ถ้าไม่เป็นเพชรบูรณ์ก็อาจจะเป็นเมืองศรีเทพ โดยนำชื่อ นครราช (เมืองนครราชสีมา) ที่มีเสียงใกล้เคียงกัน แต่มีระยะทางเดินมากวัน จนไม่เชื่อว่าจะยกทัพเข้าทำการสู้รบได้ทันการ จึงสรุปว่า ไม่ควรตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว

ดังนั้น เมืองบางยาง เมืองราด ที่ปรากฏชื่อขุนบางกลางหาว ขุนผาเมือง ครองก่อนเข้าชิงอำนาจขอมและตั้งอาณาจักรสุโขทัย จึงเป็นกรณีศึกษาถึงสถานที่และเส้นทางการเดินทัพที่ทำให้ชิงอำนาจขอมในเมืองสุโขทัยได้ทันเหตุการณ์

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้กล่าวถึงกลุ่มเมืองนี้ในเรื่องประวัติศาสตร์สุโขทัยจารึกว่า

“คนทั่วไปเข้าใจว่า เมืองราดอยู่ที่เพชรบูรณ์ แต่ข้าพเจ้าวางตำแหน่งกลุ่มเมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย ไว้ที่ลุ่มแม่น้ำน่าน”

ในจารึก หลักที่ 2 ของพระมหาเถรศรีลัทธาราชจุฬามณี นั้นทำให้ทราบว่า เมืองราดกับเมืองสะค้า และเมืองลุมบาจาย เป็นกลุ่มเมืองที่อยู่ใกล้กัน พ่อขุนผาเมืองเป็นโอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุม และเป็นเจ้าเมืองราด

มีข้อสังเกตว่า กษัตริย์ที่ครองเมืองน่านนั้น มีพระนาม ผานอง ผากอง และผาสุม ไม่ปรากฏว่ากษัตริย์เมืองอื่นใช้คำว่า ผา นำหน้าพระนาม จึงเข้าใจว่า ขุนผาเมือง นั้นน่าจะเป็นกษัตริย์เมืองน่านด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า กษัตริย์เมืองน่าน นั้นมีโอรสองค์หนึ่งชื่อ บาจาย ก็น่าจะมีเหตุเกี่ยวพันกันในเรื่องเมืองน่าน มีอำนาจเหนือเมืองบาจาย จึงให้ บาจายโอรสองค์นั้นมีนามว่า บาจาย ตรงกับชื่อ เมืองลุมบาจาย

ในจารึกที่ 8 นั้นได้กล่าวถึงไพร่พลของพระยาลิไท ว่า มีทั้งชาวสระหลวงสองแคว ปากยม พระบาง เป็นต้น ดังนั้น หากเริ่มตั้งแต่เมืองทางทิศตะวันออกของเมืองสุโขทัยแล้ว กวาดตามเข็มนาฬิกาลงไปทางทิศใต้ แล้วกวาดไปทางทิศตะวันตกขึ้นไปทางเหนือ และกวาดลงจนจบที่ทิศตะวันออกนั้น (เมืองที่อยู่รอบเมืองสุโขทัย 360 องศา)

ถือหลักตามพุทธศาสนาว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศหน้า และวนเป็นทักษิณาวรรคหรือหมุนตามเข็มนาฬิกาแล้วก็จะพบว่า เมืองที่อยู่รอบเมืองสุโขทัยนั้น เป็นดังนี้

เริ่มจาก สระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) อยู่ทางทิศตะวันออกของสุโขทัย แล้วไปปากยม (พิจิตร) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปพระบาง (นครสวรรค์) อยู่ทางทิศใต้และไปที่ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม

(รวม 3 เมืองนี้อยู่ใน จังหวัดกำแพงเพชร) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็เป็นเมืองพาน (บางพาน อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ) จึงถึงเมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย (รวม 3 เมืองนี้อยู่ในระหว่างทิศเหนือกับทิศตะวันออกของสุโขทัย)

ดังนั้นเมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย จึงตั้งอยู่ระหว่างทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งอยู่เหนือเมืองพิษณุโลก ในจารึกหลักที่ 1 นั้น ไว้วางเมืองลุมบาจาย และเมืองสะด้าไว้ระหว่างเมืองพิษณุโลก กับเวียงจันทร์ หากเป็นตามนี้ก็พอสรุปว่าเมืองราด เมืองสะด้า เมืองลุมบาจาย นั้นอยู่บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ที่มีเหมาะสำหรับกลุ่มเมืองดังกล่าว

ข้อศึกษา ที่ควรพิจารณาคือ ขุนผาเมือง ยกกำลังเข้ามาช่วยขุนบางกลางหาวรบกับขอม สบาดโขลญลำพงที่เมืองสุโขทัยนั้น หากเมืองราดตั้งอยู่แถว จ.เพชรบูรณ์ ก็น่าจะยกทัพลงมาช่วยไม่ทัน ดังนั้นเมืองราด จึงน่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์นั้นมี ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล มีประวัติของเมืองเก่าที่น่าสนใจ กล่าวคือ (จากอักขรานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ว่า “เคยเป็นชื่อเมืองเก่า ปรากฏในพงศาวดาร เหนือว่า บาธรรมราช เจ้าเมืองสวรรค์โลกเป็นผู้สร้าง และว่าเดิมชื่อเมืองกัมโพชนคร แต่หลักฐานอื่นไม่มีประกอบ มาปรากฏในกฎหมายเก่า สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 บ่งชื่อเมืองนี้ว่า คู่กับเมืองยม เป็นเมืองขึ้นของเมืองสวรรคโลก จึงน่าจะสร้างขึ้นราวสมัยไทยแผ่อำนาจลงทางใต้ เข้ามาตั้งแว่นแคว้นเชลียง (สวรรคโลก) ขึ้นแล้วคงจะตั้งเมืองทั้งสองนี้ ขึ้นไว้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอม คือตั้งเมืองบางยมขึ้นที่แม่น้ำยม (บัดนี้ร้างหมดแล้ว) กับเมืองทุ่งยั้งที่แม่น้ำน่าน (ในสมัยนั้น สายน้ำน่านคงอยู่ใกล้เมืองทุ่งยั้ง แต่บัดนี้ เปลี่ยนทางออกไปทางเมืองมาก) สมัยสุโขทัยเมืองทุ่งยั้งยังเป็นเมืองด่านป้องกันขอมทางด้านตะวันออกอยู่

เมืองทุ่งยั้งน่าจะมาเสื่อมลงในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยปรากฏว่า พระยายุธิษเฐียรเป็นกบฏ พาเอาครอบครัวเมืองเชลียงไปขึ้นแก่พระเจ้าติโลกราชผู้ครองเชียงใหม่ เมื่อ พงศ.2003 ฉะนั้น ผู้คนชาวทุ่งยั้งคงจะถูกกวาดไปลานนาไทย เสียเป็นส่วนมาก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทรงต่อสู้กับพระเจ้าติโลกราชอยู่ช้านาน หัวเมืองฝ่ายเหนือคงป่นปี้ ฉะนั้นเมื่อได้หัวเมืองฝ่ายเหนือกลับคืนมา ผู้คนลงมีน้อย จึงโปรดให้ตัดอาณาเขตเมืองเชลียงทางลำน้ำน่าน มารวมตั้งเป็นเมืองพิชัยขึ้นค้น เมืองทุ่งยั้งก็มาขั้นเมืองพิชัยด้วย แต่สายน้ำน่านเปลี่ยนทางไป เมืองทุ่งยั้งจึงอยู่ห่างจากลำน้ำออกไปทุกทีและกันดาร พลเมืองจึงอพยพมาอยู่เมืองพิชัยเสียเป็นส่วนมาก เมืองจึงร้าง หากแต่เมืองนั้นมีปูชนียสถานสำคัญ คือ พระแท่นศิลาอาสน์ จึงยังมีคนเหลืออยู่บ้างจนบัดนี้ แต่ปรากฏเรียกชื่อใหม่ว่า เมืองศรีพนมมาศ”

ดังนั้น เมืองเก่าที่ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำน่าน ที่อยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น พอเชื่อว่าเมืองราดก็น่าจะตั้งอยู่บริเวณนี้ได้ เนื่องจากระยะทางไกล สอดคล้องกับเหตุการณ์เคลื่อนกำลังออกจากเมืองราดไปร่วมกับเมืองบางยาง เพื่อชิงอำนาจจากขอม ที่เมืองสุโขทัย ซึ่งต้องเคลื่อนพลทั้งทางบก ทางน้ำได้รวดเร็ว จังหวัดอุตรดิตถ์นั้นอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดสุโขทัย และบริเวณตำบลทุ่งยั้งนั้นอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยของแคว้นสุโขทัยประมาณ 35

กิโลเมตร

บริเวณตำบลทุ่งยั้งนั้น มีเมืองเก่าที่คูน้ำ – คันดินหลายชั้น ซับซ้อนกันอยู่จนยากที่จะบอกลักษณะของเมือง

ส่วนบริเวณที่เรียกว่า เวียงเจ้าเงาะพอเห็นรูปร่างของเมืองชัดเจน บริเวณนี้อยู่ติดกับวัดบรมธาตุ ทุ่งทางทิศตะวันออกนั้นมีคลองแม่พอง มีน้ำตลอดปีไหลผ่านเมืองเก่าลงไปแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้น เมืองราด ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงมีความเชื่อถือมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น