วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า


        พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงสอนใครแต่ละครั้ง พระองค์ก็ทรงอาศัยองค์ประกอบหลายๆอย่าง ในการสอนบุคคลระดับต่างๆ ที่มีพื้นฐานความรู้ สติปัญญาที่แตกต่างกัน พระองค์ได้ประยุกต์คำสอนแต่ละลักษณะให้มีความเหมาะสม เป็นการสอนที่แสดงถึงพุทธลีลาของพระองค์ ที่สำคัญการสอนในลักษณะนี้ของพระองค์ เป็นการนำเนื้อหาที่มีอยู่มาทำการตีความ โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วนำเข้าสู่หลักการที่ถูกต้อง ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาดังนี้

วิธีการสอนแบบต่างๆ

     วิธีการสอนแบบต่างๆ ของพระพุทธเจ้าในหัวข้อนี้ ผู้เขียนได้กำหนดขอบข่ายตามลักษณะหัวข้อที่พระธรรมปิฎกกล่าวไว้ในหนังสือชื่อว่าพุทธวิธีการสอน เพื่อง่ายต่อการจัดลำดับขั้นตอนการทำความเข้าใจ ซึ่งการสอนธรรมะของพระพุทธเจ้ามีวิธีการที่หลากหลาย พระองค์จะทรงพิจารณาจากบุคคลที่กำลังรับฟัง ถ้าบุคคลมีระดับสติปัญญาน้อย ก็จะทรงสอนธรรมะอีกรูปแบบหนึ่ง ผู้มีปัญญามากก็จะใช้อีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถึงจะมีวิธีการสอนที่หลากหลายอย่างไร เมื่อจัดเข้าอยู่ในประเภทแล้ว จำแนกวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าได้ ๔ ประเภทคือ

๑. แบบสากัจฉาหรือสนทนา

เป็นการสอนโดยใช้วิธีการถามคู่สนทนา เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจธรรมะและความเลื่อมใสศรัทธา วิธีการสอนแบบนี้จะเห็นได้จากการที่พระองค์ใช้โปรดบุคคลในกลุ่มที่มีจำนวนจำกัดที่สามารถพูดตอบโต้กันได้ การสอนแบบนี้จะมีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายๆที่

เช่นกรณีของปริพพาชกชื่อว่าวัจฉโคตร ที่เข้าไปทูลถามเรื่องความเห็นสุดโต่ง ๑๐ ประการกับพระองค์ และก็ได้มีการสนทนาแบบถาม – ตอบ ในเรื่องดังกล่าวระหว่างปริพพาชกกับพระพุทธองค์ เป็นต้น ในการสอนแบบสากัจฉาหรือสนทนา จะมีการถามในรายละเอียดได้มากกว่าการสอนแบบทั่วไป เพราะเป็นการให้ข้อมูลต่อกลุ่มชนที่มีจำนวนจำกัด เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบ ผู้ฟังมักจะได้รับคุณวิเศษจากการฟังธรรมโดยวิธีนี้อยู่เสมอ

๒. แบบบรรยาย

พระพุทธเจ้าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีประชาชนและพระสาวกเป็นจำนวนมากมารับฟัง ถือว่าเป็นวิธีการที่พระพุทธองค์ใช้มากที่สุดในการแสดงธรรม มีทั้งการแสดงธรรมที่มีใจความยาว และที่มีใจความแบบสั้นๆตามแต่สถานการณ์ที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น ในพรหมชาลสูตร พระองค์ก็ได้บรรยายเกี่ยวกับเนื้อหาของศีลซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ระดับคือ

๑) ศีลระดับต้นที่เรียกว่าจุลศีล

๒) ศีลระดับกลางที่เรียกว่ามัชฌิมศีล

๓) ศีลระดับสูงที่เรียกว่ามหาศีล

และในตอนท้ายก็ทรงแสดงเรื่องทิฏฐิ ทฤษฎีหรือปรัชญาของลัทธิต่างๆ ร่วมสมัยพุทธกาล ซึ่งมีทั้งหมด ๖๒ ทฤษฎี โดยพระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงหรือบรรยาย และชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามีความเห็น หรือมีหลักคำสอนที่ต่างจากทฤษฎีทั้ง ๖๒ ประการนี้อย่างไร

๓. แบบตอบปัญหา

การสอนแบบตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า จะทรงสอนให้พิจารณาดูลักษณะของปัญหาและใช้วิธีตอบให้เหมาะสมกัน ซึ่งในการตอบปัญหาของพระองค์นั้น จะทรงพิจารณาจากความเหมาะสม ตามลำดับแห่งภูมิรู้ของผู้ถามเป็นสำคัญ เช่น ในเทวตาสังยุตที่มีเทวดาไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “บุคคลให้อะไรชื่อว่าให้กำลัง ชื่อว่าให้วรรณะ ชื่อว่าให้ความสุข ชื่อว่าให้จักษุ ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”

พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า “บุคคลที่ให้ข้าว ชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปชื่อว่าให้จักษุ และผู้ให้ที่พักชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมตะ” ในเนื้อหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะการสอนแบบตอบปัญหา และแสดงถึงการให้ความหมาย ด้วยการตีความคำถามในขณะเดียวกันด้วย

๔. แบบวางกฎข้อบังคับ

เป็นการสอนโดยใช้วิธีการกำหนดหลักเกณฑ์ กฎ และข้อบังคับให้พระสาวกหรือสงฆ์ปฏิบัติ หรือยึดถือปฏิบัติด้วยความเห็นชอบพร้อมกัน วิธีการนี้จะเป็นลักษณะของการออกคำสั่งให้ผู้ศึกษาปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นการสอนโดยการวางระเบียบให้ปฏิบัติร่วมกัน เพื่อความสงบสุขแห่งหมู่คณะ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยต่างๆ ซึ่งใช้เป็นข้อบังคับให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตาม และที่สำคัญกฎข้อบังคับที่พระองค์ทรงบัญญัตินั้น สามารถเป็นตัวแทนของพระองค์ได้ ดังที่ทรงตรัสในวันที่จะเสด็จปรินิพพานว่า “ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไปก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

กลวิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

       การสอนหรือการถ่ายทอดความรู้ทุกเรื่อง ถึงแม้ผู้ถ่ายทอดจะมีความรู้ดีสักเพียงใดก็ตาม หากขาดอุบายการสอนที่ดึงดูดให้ผู้เรียนมีความสนใจได้ การสอนนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือภาษาปัจจุบันเรียกว่าขาดเทคนิคในการสอน พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศ ในการใช้กลวิธีหรือเทคนิคการสอนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วย ๑๐ วิธี คือ

๑. การยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ

    การยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย ช่วยให้เข้าใจเนื้อความได้ง่ายและชัดเจน ซึ่งการสอนแบบนี้ จะเห็นได้ชัดเจนจากนิทานที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เฉพาะนิทานชาดกอย่างเดียวที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็มีมากถึง ๕๔๗ เรื่อง เช่นสอนเรื่องความเสียหายอันเกิดจากความไม่สามัคคี โดยยกตัวอย่างเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

หรือสอนเรื่องการอยู่อย่างสงบ ต้องอาศัยการประกอบความเพียรอยู่เสมอ โดยการยกเอาพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง โดยตรัสยกย่องว่า "เป็นผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร ไม่ติดในที่อยู่ ละความห่วงอาลัยไป เหมือนหงส์ละเปือกตมไป ฉะนั้น"

ดังนั้นการสอนแบบนี้จึงถือว่า เป็นเรื่องที่ทำให้มองเห็นภาพคำสอนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยตัวละครอื่นๆ จะมีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และการสอนแบบนี้เป็นการนำตัวละครมาใช้ตีความธรรมะ ให้มีความหลากหลายและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

๒. การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา

    เป็นการอธิบายเพื่อทำเรื่องที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นนามธรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยชัดเจน เช่นครั้งพระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่เมณฑกเศรษฐีว่า “โทษของคนอื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะคนนั้นชอบโปรยโทษของผู้อื่น เหมือนคนโปรยแกลบ แต่กลับปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดร่างพรางกายตนไว้”

   หรือครั้งที่พระองค์ตรัสในคราวที่ประทับอยู่ในอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถีว่า “สมณพราหมณ์พวกหนึ่งแล่นเลยไป ไม่บรรลุธรรมที่เป็นสาระ ชื่อว่าพอกพูนเครื่องพันธนาการใหม่ๆยิ่งขึ้น ยึดมั่นในสิ่งที่ตนได้เห็นแล้วและฟังอย่างนี้ จึงตกสู่หลุมถ่านเพลิงตลอดไป เหมือนแมลงตกสู่ประทีปน้ำมันฉะนั้น”

  คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏความเด่นชัดออกมาและเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะมักใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม เปรียบเทียบให้เห็นชัดด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือเปรียบเรื่องที่เป็นรูปธรรมด้วยข้ออุปมาแบบนามธรรม ก็ช่วยให้ความหมายมีความหนักแน่นขึ้น การใช้อุปมานี้เป็นกลวิธีประกอบการสอน ที่พระพุทธองค์ทรงใช้บ่อยมากในการแสดงธรรม

๓. การใช้อุปกรณ์การสอน

    เป็นการใช้สิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นสื่อในการสอน ซึ่งก็จัดอยู่ในลักษณะที่คล้ายการใช้วิธีการอุปมา วิธีการสอนแบบนี้พระพุทธองค์จะทรงใช้อุปกรณ์รอบตัวของพระองค์ เป็นสื่อในการแสดงธรรม เช่น ในครั้งที่ประทับอยู่ที่สีสปาวันใกล้เมืองโกสัมพี ก็ได้สอนภิกษุทั้งหลายโดยใช้ใบประดู่เป็นอุปกรณ์ คือพระองค์ได้หยิบใบประดู่ลายมาเล็กน้อยแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในป่ากับในพระหัตถ์ของพระองค์ที่ไหนมากกว่ากัน

  ภิกษุทั้งหลายก็ทูลว่าในป่ามีมากกว่ายิ่งนัก แล้วพระองค์ก็ตรัสแสดงการที่พระองค์ไม่ทรงสอนทั้งหมด เพราะคำสอนของพระองค์นั้นมีมากมายเหมือนไม้ประดู่ลายในป่า แต่ที่ตรัสเปรียบคำสอนที่จำเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือ เพราะมีความจำเป็นต่อการทำที่สุดแห่งทุกข์ให้สิ้น

๔. การทำเป็นตัวอย่างหรือสาธิตให้ดู

   วิธีการสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะในทางจริยธรรมคือการทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองการสาธิตให้ดู ในวิธีการสอนนี้เป็นลักษณะของความเป็นผู้นำที่แท้จริง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามเกิดความมั่นใจในผู้สอน วิธีการที่ดีที่สุดคือการทำให้ดู พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เช่น กรณีของภิกษุที่ป่วยจนต้องนอนจมกองมูตรและคูถของตนเอง ไม่มีภิกษุรูปใดมีความปรารถนาที่จะเข้าไปดูแลพยาบาล

    พระพุทธเจ้าจึงสอนภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในอาวาสนั้น ด้วยการลงมือปฏิบัติดูแลพยาบาลภิกษุรูปนั้นด้วยพระองค์เอง หลังจากที่ทรงดูแลจนภิกษุที่อาพาธให้มีอาการดีขึ้นแล้ว ในตอนประชุมได้ตรัสไว้ เพื่อเป็นข้อคิดแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ขอให้ผู้นั้นพยาบาลภิกษุผู้อาพาธเถิด”

๕. การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่

      เป็นเรื่องของการใช้ความสามารถ ในการใช้ภาษาผสมปฏิภาณ การสอนแบบนี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าที่ทรงรอบรู้ทุกด้าน ในการที่พระองค์ทรงใช้วิธีการสอนแบบเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่นี้ จะเห็นได้จากกรณีของเวรัญชพราหมณ์ ที่มากล่าวต่อว่าพระองค์ต่างๆนานา แทนที่พระองค์จะปฏิเสธการกล่าวหานั้น กลับนำคำกล่าวหามาอธิบายด้วยการใช้ภาษา การเล่นคำ โดยการนำเข้าสู่หลักการที่ถูกต้องของพระองค์

เช่น ในข้อกล่าวหาที่พราหมณ์ต่อว่าพระพุทธองค์ว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีสมบัติ” ซึ่งสมบัติในความหมายของพราหมณ์ เป็นการกล่าวถึงสมบัติภายนอก ที่เป็นเครื่องตอบสนองความต้องการพื้นฐาน แต่พระพุทธเจ้าให้ความหมายการไม่มีสมบัติคือ การละสิ่งที่ทำให้ชีวิตติดอยู่กับวัตถุนั้นๆ เพราะการตัดรากเหง้าแห่งอกุศลทั้งหลายชื่อว่าไร้ซึ่งความเป็นคนมีสมบัติ เพราะการละอกุศลทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง เป็นต้น

ด้านการสอนหลักธรรมทั่วไป พระพุทธองค์ก็ทรงรับเอาคำศัพท์ที่มีใช้อยู่แต่เดิมในลัทธิศาสนาเก่ามาใช้ แต่ทรงกำหนดความหมายให้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ฟัง ผู้เรียนหันมาสนใจและกำหนดคำสอนได้ง่าย เพียงแต่มาทำความเข้าใจเสียใหม่ และเป็นการช่วยให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบไปในตัวด้วยว่าอย่างไหนถูก อย่างไหนผิดอย่างไร จึงเห็นได้ว่าคำว่าพรหม, พราหมณ์, อริยะ, ยัญ, ตบะ, ไฟบูชา ฯลฯ ซึ่งเป็นคำในลัทธิศาสนาเดิมก็มีใช้ในพระพุทธศาสนาด้วยทั้งสิ้น แต่มีความหมายต่างออกไปเป็นอย่างอื่น

๖. การใช้อุบายเลือกคนและการปฏิบัติเป็นรายบุคคล

การเลือกคนเป็นอุบายสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองได้เร็ว ซึ่งวิธีนี้เราจะเห็นได้จากหลังการตรัสรู้ใหม่ๆ ของพระพุทธองค์ การสอนแต่ละครั้งในช่วงนั้น จะเน้นหนักไปในด้านผู้นำในชุมชน

เช่นครั้งตรัสรู้แล้วก็เลือกที่จะโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน เพราะทรงเห็นว่าพวกเขามีพื้นฐานความศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ง่ายต่อการทำความเข้าใจคำสอนของพระองค์ และต่อมาก็สอนชายหนุ่มที่ชื่อว่ายสกุลบุตร ซึ่งเป็นบุตรของเศรษฐีและผู้นำของชายหนุ่มในชุมชนนั้น เพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าปัญจวัคคีย์และยสกุลบุตรนี้ จะเป็นสาวกที่จะช่วยในการเผยแผ่คำสอนได้มาก

การสอนผู้ปกครองแผ่นดินของพระพุทธองค์ ก็ทรงใช้วิธีการนี้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อทำให้ผู้นำให้มีความเข้าใจและศรัทธาได้แล้ว ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาย่อมปฏิบัติตามผู้นำในที่สุด เช่น กรณีของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้แสดงให้เห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงมองการณ์ไกล ในเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงมีการเริ่มต้นสอนที่บุคคลซึ่งเป็นประมุขหรือหัวหน้าของชุมชนนั้นๆ ก่อน

การเผยแผ่ธรรมของพระพุทธองค์เมื่อครั้งตรัสรู้ใหม่ๆ ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ เมื่อครั้งออกแสวงหาธรรมก่อน ข้อนี้พิจารณาได้ทั้งในแง่ที่ปัญจวัคคีย์เป็นผู้ใฝ่ธรรมมีอุปนิสัยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งในแง่ที่เป็นผู้เคยมีอุปการะกันมา หรือในแง่ที่เป็นการสร้างความมั่นใจ ทำให้ผู้เคยเกี่ยวข้องหมดความคลางแคลงใจในพระองค์ ตัดปัญหาในการที่ท่านเหล่านี้ อาจไปสร้างความคลางแคลงใจแก่ผู้อื่นต่อไปด้วย ครั้งเสร็จจากการสั่งสอนปัญจวัคคีย์แล้ว ก็ได้โปรดยสกุลบุตรพร้อมทั้งเศรษฐีผู้เป็นบิดาและญาติมิตร

ครั้นเมื่อเสด็จเข้าแคว้นมคธก็ได้โปรดชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมบริวารทั้งพัน เริ่มต้นด้วยชฎิลคนที่เป็นพี่ก่อน แล้วนำชฎิลเหล่านี้ผู้กลายเป็นพระสาวกแล้วเข้าสู่นครราชคฤห์ ประกาศธรรม ณ พระนครนั้น หลังจากนั้นก็ได้พระราชาเป็นสาวก นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระองค์ ด้วยพระปรีชาญาณอย่างแท้จริง เพราะพระองค์ทรงรู้จักเลือก ที่จะหาแกนนำในการเผยแผ่ธรรมของพระองค์ จากบุคคลที่เป็นหัวหน้าในชุมชนนั้นๆ

๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส

พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นถึงพุทธวิธีในการสอน ที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อบุคคลระดับต่างๆ ได้ดี การสอนแบบนี้พระองค์จะทรงดำริถึงความเหมาะสม ความพร้อมของผู้ที่จะรับฟัง ตลอดจนถึงเหตุการณ์ที่เห็นว่าเหมาะสม ในการที่จะแสดงธรรมหรือบัญญัติข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น

กรณีของการบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อ พระองค์ก็จะต้องมีมูลเหตุของความผิดที่เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วจึงสอนโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิด หลังจากนั้นก็จะบัญญัติสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติหรือที่ควรปฏิบัติ ซึ่งต่อมาเรียกว่าพระวินัย เช่น กรณีของพระสุทินที่ต้องอาศัยปาราชิก ด้วยการเสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยาของตน

ต่อมาพระองค์ก็ได้ทรงบัญญัติ ในเรื่องความผิดที่ประพฤติแล้วขาดจากความเป็นพระข้อที่ ๑ และอีกกรณีหนึ่งที่แสดงถึงการรู้จักใช้จังหวะและโอกาสของพระพุทธองค์ก็คือ ในเรื่องของการสังคายนา เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่มีภิกษุหลายรูปเข้าไปทูลแสดงความประสงค์ให้พระองค์ทำสังคายนา แต่กาลเวลายังไม่สมควรจึงตรัสห้ามเสีย

แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อลัทธิอื่นๆ ที่มีการแตกแยกเพราะครูอาจารย์สิ้นไป และทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว โดยการอ้างตัวอย่างจากลัทธิต่างๆและเหตุปัจจัยที่เหมาะสม จึงมีมติให้ภิกษุได้ทำสังคายนา โดยทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระธรรมวินัย และได้ทรงมอบหมายให้ภิกษุมีพระสารีบุตร เป็นต้น ได้ทำการสังคายนาในโอกาสที่เหมาะสม

๘. ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ

วิธีการสอนนี้เป็นการแสดงถึง การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาของพระพุทธองค์ที่ใช้สอนบุคคลระดับต่างๆ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ลดละตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียให้น้อยที่สุด ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ เช่น กรณีที่พระพุทธเจ้าตรัสกับคนฝึกม้าที่มีวิธีการฝึกด้วยวิธีแบบสุภาพ วิธีแบบรุนแรง ทั้งวิธีแบบสุภาพและรุนแรง จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อฝึกไม่ได้ก็ฆ่าทิ้งเสีย

พระพุทธองค์ก็ใช้วิธีการที่คนฝึกม้ากล่าวไว้นั้น ย้อนกลับมาเป็นอุปกรณ์การสอนของพระองค์ ด้วยพระดำรัสว่า “เราย่อมฝึกคนด้วยวิธีละมุนละไมบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีที่ทั้งละมุนละไมและทั้งรุนแรงปนกันไปบ้าง และถ้าฝึกไม่ได้ก็ฆ่าเสีย” แต่ในกรณีการฆ่าของพระองค์นั้น หมายถึงการไม่เอาใจใส่ต่อบุคคลที่ไม่มีความสนใจในธรรม จึงฆ่าเสียคือปล่อยให้หล่นไปสู่หนทางที่ไม่ดี เพราะสาเหตุจากการไม่สนใจของบุคคลนั้น การทำในลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการฆ่าในอริยวินัย


๙. การลงโทษและการให้รางวัล

การลงโทษในที่นี้คือการลงโทษซึ่งมีทั้งในทางธรรมและวินัย มีบทบัญญัติความประพฤติอยู่แล้ว การให้รางวัลคือการแสดงธรรมไม่กระทบกระทั่ง ไม่รุกรานใคร แต่เป็นการกล่าวสรรเสริญในการกระทำที่ถูกต้อง และถือว่าเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นด้วย ในเรื่องของการลงโทษ

เช่นการลงพรหมทัณฑ์ต่อพระฉันนะซึ่งมีความเย่อหยิ่งว่าตนเองเป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธ

เจ้า ในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์จนกระทั่งออกบวช เป็นเหตุให้พระฉันนะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เพื่อให้พระฉันนะรู้จักสำนึกในการกระทำของตนเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้มีการลงพรหมทัณฑ์ด้วยการไม่ให้ผู้ใดพูดคุย หรือกล่าวตักเตือนอะไรเลยแก่พระฉันนะ โดยตรัสกับพระอานนท์ก่อนที่จะเสด็จปรินิพพานว่า “อานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ ด้วยการที่ว่า แม้ภิกษุฉันนะจะพึงพูดได้ตามต้องการ แต่ภิกษุไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพร่ำสอนเธอ”

การให้รางวัลของพระพุทธองค์นั้นที่ปรากฏเด่นชัดก็คือ การตรัสยกย่องในความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ที่เรียกว่าเป็น “เอตทัคคะ” เช่นกรณียกย่องพระสารีบุตรว่ามีความเป็นเลิศในด้านผู้มีปัญญามาก มีความเข้าใจอรรถแห่งธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งได้ โดยเปรียบพระสารีบุตรเหมือนเสนาบดีที่มีความรอบรู้ได้อย่างสูงสุด ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “นรชนใดผู้ไม่ต้องเชื่อใคร รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ตัดรอยต่อแห่งการเกิดใหม่ ทำลายโอกาสแห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร ความคลายหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด”

แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงใช้การชมเชยยกย่องบ้าง ก็เป็นไปในรูปการยอมรับคุณความดีของผู้นั้น เป็นการกล่าวชมโดยธรรมให้เขามั่นใจในการกระทำความดีของตน แต่ไม่ให้เกิดเป็นการเปรียบเทียบข่มคนอื่นลง บางทีทรงยกย่องเพื่อให้ถือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อแก้ความเข้าใจผิด ให้ตั้งทัศนคติที่ถูก

๑๐. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นต่างครั้งต่างคราว ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปไม่มีที่สิ้นสุด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมต้องอาศัยปฏิภาณ คือความสามารถในการประยุกต์หลักวิธีการและเทคนิคต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสมเป็นเรื่องเฉพาะคราวไป

ในการประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้าต้องเจอกับปัญหามากมาย และพระองค์ก็ต้องอาศัยปฏิภาณแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เช่นกรณีของครอบครัวพราหมณ์ที่อยู่ในเมืองราชคฤห์ ฝ่ายสามีนับถือศาสนาพราหมณ์แต่ภรรยานับถือพระพุทธศาสนา และภรรยาก็สรรเสริญแต่พระพุทธคุณอยู่ตลอดเวลา จนสามีไม่พอใจ คอยพูดว่าร้ายพระพุทธเจ้าต่างๆ นานา

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งภรรยาทำอาหารหล่น แล้วเปล่งอุทานด้วยคำพูดที่แสดงออกถึงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พราหมณ์เกิดความไม่พอใจยิ่งนัก จึงไปเพื่อที่จะเอาชนะด้วยการถามให้พระพุทธเจ้าจนปัญญาในการตอบปัญหาว่า "บุคคลกำจัดอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข กำจัดอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงพอพระทัยการกำจัดธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร"

พระพุทธเจ้าทรงใช้กลวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการตรัสตอบว่า "บุคคลกำจัดความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข กำจัดความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก พราหมณ์ พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการกำจัดความโกรธ ซึ่งมีรากเหง้าเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะบุคคลกำจัดความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก"

หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสแก้ปัญหาจบ พราหมณ์จึงเกิดความเลื่อมใสและยอมรับที่จะเป็นสาวกของพระองค์ ซึ่งเนื้อหาในการตรัสตอบปัญหาโดยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากับพราหมณ์ แสดงถึงลักษณะความเป็นบรมครูของพระพุทธองค์อย่างหาใครเปรียบได้

2 ความคิดเห็น: